วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

วัดคงคารามและพระยามอญทั้งเจ็ด

ประวัติวัดคงคารามที่ตั้ง 1 ม.3 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ในปี 2310 ไทยก็เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า จนพระเจ้ากรุงธนบุรีกู้เอกราชคืนได้ และทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ความทราบถึงหัวหน้ามอญที่หลบซ่อนพม่าอยู่ ก็ชวนสมัครพรรคพวกได้ประมาณ 1,000 ครัวเรือน ก็อพยพหนีพม่าเข้ามาทางด่านนเจดีย์สามองค์ เพื่อเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยติดต่อผ่านมายังเจ้าพระยารามัญวงศ์ครั้งกรุงเก่าเป็นผู้ช่วยเหลือ แต่พอดีเกิดจลาจลที่กรุงธนบุรี พวกรามัญเหล่านั้น จึงพักพลอยู่ที่เมืองไทรโยค และต่อมาเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จกลับจากเมืองเขมร ปราบปรามจลาจลลงได้สำเร็จ แล้วทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ้าพระยารามัญวงศ์ จึงกราบทูลเรื่อง มอญเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารให้ทรงทราบ พระองค์ทรงเห็นว่า มอญกับไทย ต่างมีศัตรูร่วมกัน คือ พม่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้านายเมืองมอญเมืองเมาะลำเลิง ที่เหลือชีวิตอยู่ 7 คน ให้เป็นนายด่านป้องกันพม่า 7 เมือง เมืองด่านทั้ง 7 คือ เมืองไทรโยค ท่าขนุน ท่ากระดาน ท่าตะกั่ว ลุ่มสุ่ม สิงห์ และเมืองทองผาภูมิ (ปัจจุบันเมืองเหล่านี้บ้างก็เป็นอำเภอ บ้างก็ถูกยุบเป็นตำบลอยู่ใน จ.กาญจนบุรี) มอญ เรียกเจ้าเมืองทั้ง 7 นี้ว่า เจี๊ยะเดิงฮ่ะเป๊าะ เจ้าเมืองทั้ง 7 นี้ล้วนแล้วแต่จะเป็นญาติกัน
หนึ่งในพญามอญทั้งเจ็ด-พระบันนสติฐบดี(ชัง)
เจ้าเมืองท่าขนุนคนสุดท้าย
เจ้าของภาพ : ผู้ใหญ่ขจิต หลักคงคา
ต่อมาพวกมอญญาติเจ้าเมืองทั้ง 7 นี้ ทราบว่าญาติของตนเองได้เป็นเจ้าเมือง ด่านทั้ง 7 จึงได้อพยพตามเข้ามาอีกประมาณ 5,000 ครัวเรือน ที่อยู่อาศัยจึงคับแคบ บางพวกก็อพยพไปอยู่ปากเกร็ด นนทบุรี เพราะฉะนั้นชาวคงคากับชาวปากเกร็ดในอดีต จึงได้มีการติดต่อสัมพันธ์กันมาตลอด เพิ่งจะมาเลิกติดต่อกันสมัยยุบเลิกคณะสงฆ์รามัญนิกายสมัยรัชกาลที่ 6 นี้เอง แต่พวกที่อยู่ไทรโยคนี้ ที่ราบสำหรับการเพราะปลูกมีน้อย ส่วนมากสมัยนั้นเป็นที่ป่าเขาลำเนาไพรมากกว่า จึงไม่มีที่ทำมาหากิน หัวหน้ามอญทั้ง 7 เห็นความยากลำบากของญาติพี่น้องตน จึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปหาเจ้าพระยารามัญวงศ์ และเจ้าพระยามหาโยธา เจ้าพระยาทั้ง 2 จึงได้นำเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมทูลขอพระราชทานที่ทำมาหากิน พระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระยามอญทั้ง 7 เลือกที่ทำมาหากินเอาเอง โดยพระราชทานท้องตรามาให้ด้วย
พระยามอญทั้ง 7 จึงได้พาสมัครพรรคพวกล่องมาตามลำน้ำแม่กลอง ก็เห็นว่า ช่วงที่เหมาะแก่การเพาะปลูก แมคนอยู่อาศัยน้อย คือ ตั้งแต่เขตอำเภอบ้านโป่ง ถึง อำเภอโพธาราม ซึ่งสมัยนั้นอำเภอทั้งสอง ยังไม่ได้เกิดขึ้น จึงได้ไปรับสมัครพรรคพวกของตนลงมา ส่วนพระยามอญทั้ง 7 นั้นก็ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่บ้านวัดคงคามราม นี้แล และบรรดาญาติก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำแม่กลองช่วงนี้
ชาวรามัญนั้น นับถือพุทธศาสนาอย่างศรัทธามาแต่เดิมแล้ว ตั้งแต่เสียเมืองให้พม่าแล้ว ก็ยังมิได้มีวัดที่จะประกอบการกุศลเลยสักวัดเดียว พระยามอญทั้ง 7 จึงได้ประชุมชาวรามัญอพยพทั้งหมดสร้างวัดคงคารามนี้ขึ้น ซึ่งชาวรามัญเรียกว่า "เกี้ยโต้" (วัดทรัพย์กลาง) คงคารามนี้ เป็นชื่อที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้เอง

เจดีย์ทรงรามัญ 7 องค์ รอบๆ พระอุโบสถวัดคงคาราม ซึ่งเป็นตัวแทนของพระยามอญทั้ง 7 ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวไทยรามัญราชบุรี คือ

1.พระนิโครธาภิโค เจ้าเมืองไทรโยค
2.พระชินษณติษฐบดี เจ้าเมืองท่าตะกั่ว
3.พระปัณษณติษฐบดี เจ้าเมืองท่าขนุน
4.พระพลติษฐบดี เจ้าเมืองท่ากระดาน
5.พระนินษณติษฐบดี เจ้าเมืองลุ่มสุ่ม
6.พระเสลภูมิบดี เจ้าเมืองทองผาภูมิ
7.พระสมิงสิงคิบุรินทร์ เจ้าเมืองเมืองสิงห์


พระอุโบสถวัดคงคาราม มีคุณค่าทางศิลปะเป็นอย่างยิ่งและเป็นศูนย์รวมใจของพระภิกษูสงฆ์เชื้อสายรามัญทุกรูป และยังมีภาพจิตกรรมฝาผนังที่ล้ำค่าอยู่ในอุโบสถวัดคงคารามที่ควรศึกษา และอนุรักษ์ไว้

ศาลาการเปรียญ เป็นศาลาทรงเครื่อง ไม้ทุกชิ้นเต็มไปด้วยศิลป์ที่ช่างได้บรรจงแต่งไว้ในศาลาการเปรียญ ซึ่งมีเทพชุมนุมปางผจญมาร และทศชาติ และลายเพดานบนศาลาการเปรียญเป็นลวดลายเดียวกับวัดชมภูเวก ที่ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี ที่มีแม่พระธรณีบิดมวยผมที่สวยที่สุดในประเทศไทย และเป็นวัดรามัญเก่าแก่เช่นเดียวกับวัดคงคาราม

เรือนไทยที่มีค่ามหาศาล 2 หลัง คือ กุฎิ 7 ห้อง และ 9 ห้อง เป็นเรือนไทยที่ใหญ่และงามที่สุดในประเทศไทยขณะนี้ ปัจจุบันกุฎิ 9 ห้องได้ถูกจัดตั้งให้เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้กันต่อไป เมื่อปี พ.ศ.2542
โลงมอญ ซึ่งมีอายุประมาณ 200 ปี แต่ได้ทำการลงรักปิดทองใหม่ แกะจากไม้ชิ้นเดียวทะลุโปร่ง เป็นลายดอกพุดตาล ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นดอกไม้ประจำชาติมอญในอดีตทีเดียว เพราะชาวรามัญไม่ว่าในถิ่นใด นิยมแกะลายนี้กันทั้งนั้น มีประวัติเล่าว่า ช่างทำมาจากในป่าเมืองกาญจนบุรี แล้วใส่มากับเรือที่ชื่อว่า นางอะสงและมีศพใส่มาด้วย ผ่านหลายๆ วัด วัดไหนก็อยากได้ แต่เรือไม่ยอมหันหน้าเข้าวัด แต่พอมาถึงคงคาก็หันหน้าเข้ามา ชาวบ้านเลยฉุดได้ แต่นี้เป็นเพียงเรื่องเล่า ข้าพเจ้า (หมายถึงผู้เขียนหนังสือไม่ระบุว่าใคร) เลยขออธิบายตามเหตุผลว่า ที่ว่าสร้างมาจากป่าเมืองกาญจนบุรีนั้นคงจะจริง เพราะไม้สักต้นใหญ่ๆ อย่างนั้นคงอยู่ในป่า และศพที่ใส่มานั้น จะเป็นใครไม่ต้องเป็น 1.เป็นพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่หรือเจ้าอาวาสวัดคงคาราม 2.เป็นพระยามอญท่านใดท่านหนึ่งที่ไปเสียชีวิตที่เมืองกาญจนบุรีในการไปหาไม้ตัดไม้มาสร้างวัดคงคาราม แต่มิมีบุญที่จะได้มาชื่นชมวัดคงคารามอีก ชาวบ้านที่ไปด้วยซึ่งเป็นผู้มีฝีมือในทางช่างจึงได้สร้างโลงมอญที่งดงามจากไม้ที่ตัดได้เป็นการทดแทนคุณท่าน จนปี พ.ศ.2518 กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ แต่ถึงอย่างไรก็ตามชาวคงคารามก็พยายามจะรักษาให้อยู่ในสภาพคงเดิมให้มากที่สุด เพราะเคารพฝีมือช่างในอดีตของบรรพบุรษ

ดูเพิ่มเติม
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม

ที่มา : วัดคงราราม.(_______). พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านและจิตรกรรมฝาผนัง. ________
ที่มาของภาพ :
http://img61.imageshack.us/i/65899001in2.jpg/
http://203.172.204.162/intranet/1027_sac/database/museums/G-Museums/17%20Rachaburi/wat_kongkaram/wat_kongkaram.htm
อ่านต่อ >>

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หลวงพ่อแก่นจันทน์


หลวงพ่อแก่นจันทน์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในมณฑปวัดช่องลม ริมถนนวรเดชในท้องที่ตำบลหน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยอยู่ห่างจากที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ไปทางด้านทิศตะวันตกเยงเหนือประมาณ 200 เมตร มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางอุ้มบาตร สูงรวมฐาน 5 ศอกเศษ (ประมาณ 2.50 เมตรเศษ) ตามพุทธลักษณะที่ปรากฎโดยรวม แม้ว่าจะมีลักษณะเป็นฝีมือช่างแบบอยุธยาตอนปลาย-ตอนต้นรัตนโกสินทร์ (ราวพุทธศตวรรษที่ 24) แต่ลักษณะของส่วนพระพักตร์และพระเศียร (เป็นต้นว่า พระพักตร์ที่ค่อนข้างกลมใหญ่ พระขนงที่หนายาวโค้งติดต่อกันคล้ายรูปปีกกา พระเนตรที่โปนใหญ่ พระนาสิกที่งุ้ม พระโอษฐ์ที่หนา และขมวดพระเกศาที่เป็นตุ่มกลมขนาดใหญ่ ฯลฯ) ก็มีลักษณะเป็นฝีมือช่างแบบทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 11-15) จึงมีความเป็นไปได้ที่พระพุทธรูปองค์นี้ คงมีการสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยทวารวดี แล้วมามีการซ่อมแปลงให้มีพุทธลักษณะ ดังเช่นที่ปรากฏในปัจจุบัน ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ถึงรัตนโกสินทร์
ประวัติการสร้างและความเป็นมาของหลวงพ่อแก่นจันทน์ นี้ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่า ผู้ใดสร้างหรือสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ปรากฏเฉพาะหลักฐานการบอกเล่าว่า ผู้สร้างได้เดินทางไปป่าที่จังหวัดกาญจนบุรี แล้วได้พบเสือ จึงหนีขึ้นต้นจันทน์ พร้อมกับบนบานศาลกล่าวไว้ว่า หากรอดชีวิตจากการถูกเสือทำร้ายจะสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้แก่นจันทน์ถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อรอดชีวิตกลับมาจึงสร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อแก่นจันทน์ นำไปประดิษฐานไว้ที่บ้านแก่งหลวง จ.กาญจนบุรี (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญขนบุรี) ตามที่ได้บนบานศาลกล่าวไว้
ต่อมาได้เกิดอุทกภัยขึ้นที่บ้านแก่งหลวง ทำให้พระพุทธรูปลอยตามลำน้ำแม่กลองมาจนถึงวัดช่องลม จึงได้มีผู้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ แล้วภายหลังจึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ภายในพระมณฑปที่สร้างขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้
ในช่วงที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และได้เดินทางมาพำนักที่จังหวัดราชบุรี ท่านได้ริเริ่มให้มีการจัดงานนมัสการหลวงพ่อแก่นจันทน์ขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันเพ็ญกลางเดือน 12 ซึ่งจะมีการแห่หลวงพ่อแก่นจันทน์ไปตามลำน้ำแม่กลองจากวัดช่องลมไปจนถึงบ้านคุ้งกระถิน แล้ววกกลับขึ้นเหนือไปยังไปจนถึงบ้านโคกหม้อในท้องที่ อ.เมืองราชบุรี
แต่เมื่อสิ้นสมัยของท่าน งานนมัสการประจำปีนี้ก็ซบเซา และยกเลิกไปในที่สุด
จนมาถึงประมาณปลายปี พ.ศ.2500 นายวิชัย มณีรัตน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองราชบุรีขณะนั้น จึงได้ฟื้นฟูงานนมัสการประจำปีข้างต้นมาอีกครั้ง โดยเปลี่ยนแปลงเวลาจากเดิมในช่วงวันเพ็ญกลางเดือน 12 มาเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์กลางเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับงานประจำปีนมัสการศาลเจ้าพ่อหลักเมือง พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการแห่จากทางน้ำมาเป็นทางบกจากวัดช่องลมไปประดิษฐานที่สนามหน้ากรมการทหารช่าง (ค่ายภาณุรังษี) ริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันออก เพื่อให้ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาปสาทะได้สรงน้ำปิดทองแทน อันเป็นประเพณีที่ยังมีการยึดถือสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้
ที่มา : มโน กลีบทอง.(2544). พิพิธภัณฑสถาน ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์. หน้า 209.
อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552

วัดมหาธาตุวรวิหาร


วัดมหาธาตุวรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยูในตัวเมืองราชบุรีทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง สร้างในสมัยลพบุรี แล้วร้างไประยะหนึ่ง จนมีการบูรณขึ้นใหม่เป็นวัดประจำเมืองในสมัยอยุธยา พร้อมทั้งสร้างพระ 2 องค์ ให้หันหลังชนกันเป็น "พระรัตนเมือง" (ปัจจุบันมีชื่อว่า "พระมงคลบุรี" )ตามความเชื่อของคนในสมัยอยุธยา รวมทั้งพระธาตุวิหารหลวง วิหารราย 4 หลัง มณฑปพระบาท และโบสถ์ แล้วก็ร้างไปอีกครั้งหนึ่ง

จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง วัดนี้จึงมีศิลปะถึง 3 สมัยรวมกัน คือ หลังคาโบสถ์เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ อาคารอุโบสถเป็นศิลปะสมัยอยุธยา ฝาผนังหนาฐานล่างอ่อนโค้งคล้ายเรือสำเภา และกำแพงวัดเป็นศิลปะสมัยลพบุรีสร้างด้วยศิลาแลง ยอดกำแพงจำหลักลายพระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในวัดมหาธาตุวรวิหาร คือ องค์พระปรางค์เก่าแก่ สร้างด้วยศิลาแลง ในองค์พระปรางค์เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อพันปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยขอมเรืองอำนาจ สูงประมาณ 24 เมตร รอบๆ พระปรางค์มีพระพุทธรูปศิลาแลง ใบเสมาทำจากหินทรายแดง เป็นที่ประดิษฐ์สถานพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองคูบัว 3 องค์ และของเดิมที่วัดอีก 3 องค์

นอกจากที่วัดนี้จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังใช้เป็นที่ประกอบพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดราชบุรีด้วย

วัดมหาธาตุเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบัน ภาพองค์พระปรางค์ของวัดมหาธาตุฯ เป็นภาพหนึ่ง ที่ถูกคัดเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดราชบุรี เพื่อสื่อสารเรื่องราวต่างต่าง ให้แก่นักท่องเที่ยว และบุคคลโดยทั่วไป

ปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนองค์พระปรางค์เป็นโบราณสถานของชาติ และกำลังเร่งดำเนินการขุดค้นบริเวณโดยรอบ เพื่อหาร่องรอยแห่งอารยะธรรมที่ผ่านมา พบหลักฐานหลายประการ แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรือง ตั้งแต่สมัยขอม ลพบุรี จนกระทั่งถึง อาณาจักรศรีอโยธยา อาทิ แท่นพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ เตาเผาถ้วยชาม บันไดท่าน้ำวิหารพระรัตนเมือง หรือหลวงพ่อมงคลบุรี ฐานศิลาแลงกำแพงแก้ว ที่กว้างใหญ่ มีความสูงกว่าสองคนต่อ เป็นต้น

ปัจจุบัน การขุดค้นของกรมศิลปากร ไม่มีท่าทีว่า จะเสร็จสิ้นลงเมื่อใด เนื่องจากต้องรองบประมาณ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ลดน้อยลงไปมาก เนื่องจากไม่สะดวกในการเข้าชม

วัดมหาธาตุวรวิหาร แม้จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นโบราณสถานของชาติ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญ แต่ ณ วันนี้ วัดมหาธาตุฯ ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว หากผู้รับผิดชอบ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ได้หันมาสนใจบริหารจัดการอย่างจริงจังแล้ว วัดมหาธาตุวรวิหาร จะกลับมาเป็นประโยชน์ ต่อ นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และคนรุ่นหลัง ดังเดิม อย่าให้คุณค่าของวัดมหาธาตุฯ เป็นเสมือน งานวิจัยชั้นดี ที่ถูกเก็บไว้บนหิ้ง ไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อสังคมและประเทศชาติ ตามที่ควรจะเป็น

ข้อมูลเพิ่มเติม จาก เอกสารสังเขปประวัติ วัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี โดย พระเทพวิสุทธาภรณ์ เจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550

เมืองราชบุรี
เมืองราชบุรี เดิมเรียกเมืองชยราชบุรี เป็นเมืองประเภทหัวเมือง ตั้งมาแต่สมัยทวารวดี เดิมตั้งอยู่ที่ ตำบลคูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี ต่อมา เมื่อเส้นทางสัญจรทางน้ำตื้นเขิน จึงย้ายมาลง ณ ตำแหน่งที่เป็นวัดมหาธาตุวรวิหารปัจจุบัน

เมืองชยราชบุรีเดิม คูเมืองตื้นเขิน มีบัวขึ้นเป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกคูบัว ตั้งอยู่ในตำแหน่งใหม่นี้ปลายทวารวดี ตลอดสมัยเขมรยุคต้น เขมรยุคปลาย สุโขทัย อยุธยา จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงย้ายเมืองไปอยู่ ณ ฝั่งตรงข้าม ที่เป็นค่ายภาณุรังษีปัจจุบัน ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ ถึงรัชกาลที่ 5 ทรงตัดทางรถไฟผ่านกลางใจเมือง จึงได้โปรดให้ย้ายกลับมาอยู่แม่กลองฝั่งขวา ที่เป็นตลาดปัจจุบัน

พระอาทิมงคล
พระครูปลัดทอง จนฺทสุวณฺโณ เป็นชาวท่าแจ เล่าให้มหาไพบูลย์ (เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน) ฟังว่า พระอาทิมงคล นี้ เดิม ประดิษฐานอยู่ในคูหาปรางค์ประธาน ต่อมาเศียรถูกโจรกรรมไป ทางราชการไปจับได้ที่ท่าเรือคลองเตย ในขณะที่จะส่งออกนอกประเทศ และเศียรนั้นทางราชการได้ยึดเข้าพิพิธภัณฑ์ ต่อมาจึงได้ย้ายองค์ที่ปราศจากเศียรไปไว้หลังพระรำพึง ในระเบียงคต ต่อมาได้ถูกย้ายไปไว้ที่มุมระเบียงคตทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งด้านในและด้านนอกระเบียงตามลำดับ ปัจจุบัน ได้บูรณะและประดิษฐาน อยู่บนฐานเจดีย์เก่าด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปรางค์ประธาน

สันนิษฐานว่า เมื่อย้ายเมืองชยราชบุรี จากคูบัวมาลง ณ ตำแหน่งวัดมหาธาตุวรวิหาร ได้สร้างวิหารประดิษฐานพระอาทิมงคล ณ ตำแหน่งที่เป็นวิหารหลวงในปัจจุบัน ตามคติของคนโบราณ เมื่อสร้างบ้านสร้างเมืองที่ไหน ก็จะสร้างสิ่งเคารพไว้ประจำเมือง เป็นพุทธสถานบ้าง เป็นเทวสถานบ้าง ตามความเชื่อของตน
หมายเหตุ หลักฐานอ้างอิง ได้จากหนังสือเที่ยวเมืองโบราณบางปู

พระชัยพุทธมหานาค (หลวงพ่อพันปี)
ประมาณย้อนหลังไป 10 ปี แต่ พ.ศ.2550 ได้มีนายทหารท่านหนึ่ง ยศนายพัน แจ้งให้ทราบว่า ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสระแก้ว และรับราชการอยู่ ณ ที่ภูมิลำเนาเดิมตลอดมา และยังมีหน้าที่เกี่ยวกับมัคคุเทศก์ในจังหวัดอีกตำแหน่งหนึ่ง เขามาขอชมพระชัยพุทธมหานาค ทางเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันก็ตอบว่าไม่มี เขาก็บรรยายพระพุทธลักษณะให้ฟัง ก็บอกเขาว่า มีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เข้าลักษณะตามที่บรรยาย เมื่อเขาได้ชมแล้ว ก็บอกว่าองค์นี้แหละ คือ พระชัยพุทธมหานาค (แต่นายทหารท่านนั้น เรียกพระพุทธชัยมหานาค) นายทหารท่านนั้นบรรยายให้ฟังต่อไปว่า

พระชัยพุทธมหานาคนี้ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างทั้งหมด 23 องค์ ประดิษฐานตามปรางเขมรต่างๆ แทนเทวรูป ปรางค์เดิม เป็นปรางค์หิน ศิลปะเขมร ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งที่เป็นวิหารหลวงปัจจุบัน

ลักษณะพระชัยพุทธมหานาค เป็นปรางนาคปรกสะดุ้งาร สร้างด้วยหินทรายสีขาว ศิลปะเขมร จะผิดกับพระนาคปรกทั่วๆ ไปซึ่งเป็นปรางสมาธิ ปัจุบันประดิษฐานอยู่ในคูหาปรางค์ประธาน

ปรางค์
ปรางค์ปัจจุบัน ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์บริวาร ศิลปะอยุธยายุคต้น มีลายปูนปั้นประดับ สร้างถอยหลังออกไปจากปรางค์เขมร เดิมเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ต่างจากปรางค์เขมรยุคต้นประดิษฐานเทวรูป หรือศิวลึงค์ เขมรยุคปลายประดิษฐานพระพุทธรูป การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุยุคโบราณ นิยมฝัง ฉะนั้นพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ ณ ปรางค์ปัจจุบัน จึงบรรจุอยู่ที่ฐานปรางค์ส่วนบน แล้วประดิษฐานพระพุทธรูปไว้บนปากหลุมที่บรรจุ

หลักฐานเรื่องนี้
1.สมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง ฤดูร้อนเสด็จออกรับลมนอกพระตำหนักทอดพระเนตรเห็นแสงพวยพุ่งขึ้นจากแผ่นดิน จึงให้ราชบริพารเอาไม้ไปปักไว้ รุ่งเช้าจึงโปรดให้ขุด ได้พบพระบรมสารีริกธาตุ จึงโปรดให้สถาปนาวัดขึ้น ณ ตำแหน่งนั้น ชื่อ วัดมหาธาตุ
2.ประมาณ พ.ศ.2510 ได้มีการขุดฐานเจดีย์ ซ้าย-ขวา หน้าปรางค์ประธาน ได้พบพระบรมสารีริกธาตุฝังอยู่ใต้ฐานเจดีย์

จึงตกลงใจว่า การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุคือการฝัง แล้วก่อเจดีย์ทับ ก็คือเครื่องแสดงให้ทราบว่า ตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วัดมหาธาตุ จึงได้ชื่อว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

ระเบียงคต (ระเบียงคด)
เป็นอาคารเก็บพระพุทธรูป โดยที่วัดมหาธาตุเป็นอารามสำคัญประจำเมือง เมื่อเมืองราชบุรีย้ายข้ามฝั่งไป วัดต่างๆ จึงร้างโดยมากและร้างตลอดไป เว้นวัดมหาธาตุวรวิหารจะมีผู้มาบูรณะขึ้นใหม่ ในขณะเดียวกันก็รวบรวมพระพุทธรูปจากวัดต่างๆ มาเก็บไว้ ณ วัดมหาธาตุ ฉะนั้น พระพุทธรูปในระเบียงคต จึงหลากหลายศิลปะ มีทั้งศิลปะทวารวดี เขมร อยุธยา และรัตนโกสินทร์

วิหารหลวง
สร้าง ณ ตำแหน่งที่เป็นวิหารทวารวดี และปรางค์เขมรเดิม ความยาว 9 ห้อง มีมุขเด็จ (มุขเด็ด) มีบันไดขึ้น 2 ข้างของมุขเด็จ ความยาว 9 ห้อง วิหาร 9 ห้อง ก็เรียก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยาตอนต้น เรียกพระมงคลบุรี พระศรีนัคร์ ศิลปะอยุธยาต้นก็เรียก อู่ทองยุคหลังก็เรียก อู่ทองหน้าหนุ่มก็เรียก หันหลังให้กัน นอกจากเป็นที่สักการะประจำเมืองแล้ว ยังขออาราธนาให้ช่วยระวังหน้าระวังหลัง ตามความเชื่อของคนสมัยนั้น

วิหารราย
ตั้งอยู่หน้าปรางค์ นอกระเบียงคต มี 4 หลัง เป็นที่เก็บพระพุทธรูปประธานประจำโบสถ์ร้าง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นบ้าง เป็นพระพุทธรูปสร้างด้วยศิลาบ้าง ศิลปะอยุธยา สันนิษฐานว่า นำมาจากโบสถ์ร้างวัดอุทัย วัดท่าพระทอง วัดโพธิ์เขียว และวัดตารอด วัดร้าง

แท่นถือน้ำสาบาน
เป็นแท่นตั้งเครื่องสังเวยในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา (น้ำสาบาน) ประจำเมือง เป็นแท่นรูปยาวตาม (แท่นบูชาจะยาวขวาง แท่นตั้งเครื่องสังเวยจะยาวตาม) ตั้งอยู่ตรงประตูโคปุระด้านใน หน้าวิหารหลวงออกไป ระหว่างวิหารรายทั้ง 2 แท่นนี้บูรณะขึ้นเป็นครั้งที่ 3 (พ.ศ.2542)

กำแพงพระปรางค์
สร้างมาแต่สมัยเขมรยุคต้น ล้อมปรางค์ (ปราสาท) มีรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ต่อมาเขมรยุคปลาย ได้เปลี่ยนทับหลังกำแพงจากปาลารี หรือบาลี (ปลายหอก) มาเป็นพระแผง ครั้งถึงสมัยอยุธยาได้ขยายบริเวณปรางค์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยกำแพงครึ่งท่อนหลังใช้อิฐสร้าง ฉะนั้น กำแพงปรางค์วัดมหาธาตุจึงเป็น 2 ยุค คือ ครึ่งท่อนหน้าเป็นเขมร ครึ่งท่อนหลัง เป็นอยุธยา

มณฑป
เดิมด้านซ้ายของปรางค์ (ที่จำพรรษาของพระสงฆ์ปัจจุบัน) เป็นอีกวัดหนึ่ง เรียกวัดหน้าพระธาตุ เพราะผู้ที่เดินทางมานมัสการพระมหาธาตุ ทางหนึ่ง จะต้องมาขึ้นเรือ (มิใช่ลงเรือ) ที่ท่าวัดนี้ เป็นวัดคู่กับวัดลั่นทม (สำนักประชุมนารีปัจจุบัน) 2 วัดนี้ มีหน้าที่ดูแลพระมหาธาตุ หลักฐานเรื่องนี้ ได้จากองค์พระปฐมเจดีย์ และพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช จะมีอยู่ 4 วัด รอบองค์พระปฐมเจดีย์และพระบรมธาตุ มีหน้าที่ดูแลพระปฐมเจดีย์และพระบรมธาตุ

ด้านหน้าอุโบสถวัดหน้าพระธาตุ (วัดมหาธาตุวรวิหาร) นอกกำแพงแก้ว เยื้องไปทางขวามือ มีมณฑป 1 หลัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาท (มิใช่รอยพระพุทธบาท รอยพระพุทธบาท คือ รอยเท้าของพระพุทธเจ้าที่ประทับไว้ ส่วนพระพุทธบาท คือ รูปเท้าของพระพุทธเจ้า) สร้างด้วยหินทรายสีชมพู ศิลปะอยุธยา

พระอุโบสถ
สร้างมาแต่สมัยอยุธยา ต่อมาหลังคาได้พังลง เนื่องมาจากวัดมหาธาตุ ได้เคยร้างไปช่วงหนึ่ง ตอนย้ายเมือง ต่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงพ่อบุญมา ปฐมเจ้าอาวาสยุคหลังสุด พร้อมด้วยทายกทายิกา ได้บูรณะขึ้นใหม่ ดังนั้น พระอุโบสถหลังนี้ ฐานเป็นศิลปะอยุธยา (อ่อนเป็นรูปสำเภา) หลังคาเป็นรัตนโกสินทร์ยุคต้น

พระพุทธสิหิงค์
ราว พ.ศ.2526 ได้มีนายทหารคณะหนึ่ง จากกรุงเทพมหานคร มาพบพระมหาไพบูลย์ (เจ้าอาวาสรูปปัจุบัน) ขอชมพระพุทธสิหิงค์ ได้ตอบเขาไปว่าที่วัดนี้ไม่มี เขาก็ยังยืนยันว่ามี ต่อมาได้สังเกต พระพุทธรูปองค์หนึ่ง มีลักษณะที่แปลกกว่าพระพุทธรูปองค์อื่นทั่วไป องค์ลักษณะศิลปะศรีวิชัย พระพักตร์หน้ามนุษย์ เกตศิลปะเชียงแสนยุคต้น ฐานบัวคว่ำ บัวหงาย ศิลปะยุครัตนโกสินทร์

พระพุทธรูปองค์นี้ นายสมชาย (หมอเบี้ยว) สุขสวัสดิ์ เคยเล่าให้พระมหาไพบูลย์ฟังว่า หล่อที่วัดนี้สมัยหลวงพ่อตั๋น และยังได้สร้างรูปจำลอง เป็นพระเครื่ององค์เล็กไว้จำนวนหนึ่ง (พระเครื่ององค์นี้ พระมหาไพบูลย์เคยได้เห็น) สันนิษฐานว่า พระพุทธสิหิงค์องค์นี้ สร้างขึ้นใช้แห่ในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งสมัยนั้น นิยมแห่ทางเรือ ที่เรียกว่า ชักพระ เพื่อสะดวกในการนำลงเรือ จึงสร้างวิหารไว้ริมน้ำเพื่อประดิษฐาน ซึ่งวิหารหลังนี้ ก็คือ ฐานเมรุเก่า

เจดีย์แถว
อยู่ด้านหน้ามณฑป เดิมมี 8 องค์ ถูกรื้อถอนไป 3 องค์ ถูกดัดแปลงไป 1 องค์ สันนิษฐานว่า เป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญของเมืองราชบุรี เพราะเป็นเจดีย์ใหญ่กว่าเจดีย์บรรจุอัฐิของคนทั่วไป และรูปทรง ล้อลักษณะเจดีย์ยุคสุโขทัย

หอสวดมนต์
เป็นเรือนไม้ยาว 5 ห้อง มีระเบียงหน้า ภายในกั้นห้องไว้หนึ่งห้องลักษณะคล้ายห้องนอนของบ้านเรือนทั่วไป ซึ่งตรงกับที่พระครูปลัดทอง เล่าให้พระมหาไพบูลย์ฟังว่า อาคารหลังนี้ เป็นเรือนของคุณหลวง (ไม่ทราบชื่อ) อยู่ทางบ้านไร่ ถวายมา แล้วหลวงพ่อตั๋นได้มาดัดแปลงเป็นหอสวดมนต์ คู่กับหอสวดมนต์เก่า หรือกุฎิเจ้าอาวาสเก่า ปัจจุบันได้ขยายแยกออกจากกันแล้วใส่ชานกลาง เป็นกุฎิเจ้าอาวาส
อู่เรือ
อู่เรือมี 2 แห่ง คือ ที่ท้ายหอสวดมนต์ ของวัดหน้าพระธาตุ 1 แห่ง ที่ท้ายโบสถ์วัดลั่นทม (วิหารสำนักประชุมนารีปัจจุบัน) 1 แห่ง ซึ่งในกาลต่อมาเรียกว่า สระ อู่เรือใช้เป็นที่เทียบเรือ เสมือนลานจอดรถในปัจจุบัน สำหรับผู้เข้ามมาวัด ฉะนั้น ริมอู่เรือ จะมีศาลาท่าน้ำขนาดใหญ่ เพื่อที่ผู้เดินทางมาใช้เป็นที่แต่งตัวบ้าง พระสงฆ์ใช้เป็นที่ขึ้นเรือบ้าง (เอาเรือขึ้น) ปัจจุบันศาลาท่าน้ำของวัดหน้าพระธาตุ รื้อไปหมดแล้ว ส่วนของวัดลั่นทม มาไม่ทัน

บ่อปั้นอิฐ
คือ บ่อที่ขุดดิน เอามาปั้นอิฐ เพื่อสร้างศาสนสถานที่ใหญ่ๆ เช่น โบสถ์ สมัยก่อนไม่มีการผลิตอิฐจำหน่าย ฉะนั้น เมื่อจะสร้างศาสนสถานที่ใหญ่ เช่น โบสถ์แล้ว ก็จะขุดดินข้างโบสถ์นั้น เอามาปั้นและเผาในที่นั้น เพื่อตัดปัญหาการขนย้าย ต่อมาบ่อนั้น จะนิยมเรียกว่า สระ เช่นโบสถ์วัดหน้าพระธาตุ มีบ่ออยู่ด้านขวา (ปัจจุบันถมแล้ว) โบสถ์วัดลั่นทม มีบ่ออยู่ด้านขวา ปัจจุบันเป็นสระน้ำ โบสถ์วัดบ้านกล้วย มีบ่ออยู่ด้านซ้าย ปัจจุบันถมแล้ว โดยฌแพะโบสถ์วัดบ้านกล้วย (หลังที่ 2) มีพยานบุคคล คือ โยมป้าม้วน จุลคิรี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว

โพธิ์เงินโพธิ์ทอง
โพธิ์ที่สำคัญ จะนิยมปลูกในบริเวณปูชนียสถาน โพธิ์ที่ได้ชื่อว่า โพธิรุกขัง เจติยัง จะนิยมปลูกไว้ท้ายโบสถ์ เพราะถือว่า เป็นเจดีย์ชนิดหนึ่ง เมื่อพระทำวัตรสวดมนต์ในโบสถ์ ได้ชื่อว่า สักการะบูชาต้นโพธิ์ด้วย วัดมหาธาตุวรวิหาร มีโพธิ์สำคัญอยู่ 2 ต้น คือ หน้าโบสถ์ 1 ต้น เป็นโพธิ์เงิน ข้างมณฑป 1 ต้น เป็นโพธิ์ทอง รู้ได้โดยเมื่อโพธิ์แตกใบอ่อน โพธิ์เงินใบอ่อนจะเป็นสีขาว โพธิ์ทองใบอ่อนจะเป็นสีแดง

เจดีย์ท่าน้ำ
แม่น้ำแม่กลอง ตอนเหนือของเมืองราชบุรีขึ้นไป หน้าแล้ง น้ำน้อย ตลิ่งจะสูง และปกคลุมด้วยวัชพืช (มีไว้เพื่อป้องกันตลิ่งพัง) ผู้ที่สัญจรทางเรือ โดยเฉพาะคนต่างถิ่น จะมองไม่เห็นวัด เขาจึงนิยมสร้างเจดีย์ไว้ที่ท่าวัด เพื่อเป็นที่สังเกตุ โดยเฉพาะวัดที่สำคัญ ปัจจุบันเหลืออยู่ 3 วัด คือ 1.วัดมหาธาตุวรวิหาร (อยู่ข้างศษลแป๊ะกง) 2.วัดช่องลม อยู่ข้างโรงสูบน้ำ และ 3. วัดโพธิ์เขียว ท่าแจ

ถนนอยุธยา
อยู่ต่อจากเจดีย์ท่าน้ำ เป็นถนนขึ้นจากท่าน้ำเข้าสู่พระมหาธาตุ ปัจจุบันได้บูรณะให้เห็นได้ส่วนหนึ่ง ที่เหลือรั้วของโรงเรียนเทศบาล 4 สร้างทับ

ศาลามุ้ง
พระครูปลัดทอง เล่าให้พระมหาไพบูลย์ฟังว่า บริเวณท่าน้ำนั้น จะมีศาลา 1 หลัง ใช้เป็นที่ขึ้นเรือและลงเรือ (คงใช้เป็นที่หลักยอยบ้างบางโอกาส) ในศาลานั้นไม่มียุง เพราะใต้ถุนศาลาฝังแร่ชนิดหนึ่งไว้ ยุงจะไม่เข้าใกล้ ภายหลังลายแทงได้ไปปรากฏ แก่ชาวอยุธยาท่านหนึ่ง แล้วชาวอยุธยาท่านนั้นได้มาขุดเอาไป เหตุนั้นจึงเรียก ศาลามุ้ง

คนอยุธยาสร้างวัดมหาธาตุ
โบราณสถานก็ดี โบราณวัตถุก็ดี ในเมืองราชบุรี ทั้งชั้นนอก ชั้นใน เต็มไปด้วยศิลปะของอยุธยาเป็นส่วนใหญ่ จึงลงสันนิษบานได้ว่า โบราณสถานก็ดี โบราณวัตถุก็ดี ใช้ช่างอยุธยาเป็นผู้สร้าง ด้วยเหตุผล
1.เจ้าเมืองราชบุรีไปช่วยราชการสงครามบ้าง ไปถวายบรรณาการประจำปีบ้าง เห็นความสวยงามของเมืองหลวงอยุธยา จึงนำช่างอยุธยามาสร้างเมืองของตนเองบ้าง
2.ลายแทงที่วัดมหาธาตุ (ตามที่พระครูปลัดทอง เล่าให้พระมหาไพบูลย์ฟัง) ไปปรากฏแก่ชาวอยุธยาถึง 3 แห่ง คือ 1.ศาลามุ้ง 2.ที่ฐานพระปรางค์ 3.ที่ลายปูนปั้นรูปราหูอมจันทร์ ที่หน้าบันพระปรางค์

พระประจำเมือง
ยุคทวารวดี ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่นครปฐมได้สร้างพระพุทธรูปหิน ห้อยพระบาทปางปฐมเทศนา ประดิษฐานไว้ 4 มุมเมือง เรียกพระประจำเมือง ปัจจุบัน ทางราชการ ได้รวบรวมชิ้นส่วนที่กระจัดกระจาย มาบูรณะขึ้นให้เต็มองค์ ประดิษฐานอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ พระนคร 1 องค์ ประดิษฐานอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรอยุธยา 1 องค์ ประดิษฐานอยู่ ณ พระปฐมเจดีย์ 2 องค์

สำหรับเมืองชยราชบุรี ก็สร้างประดิษบาน ณ วิหารทวารวดีเป็นพระประจำเมือง 1 องค์ เรียกพระอาทิมงคล เป็นพระพุทธรูปสร้างด้วยหินชนวนประทับยืน ปางประทานพร

ยุคเขมร พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้สร้างพระพุทธรูปนาคปรก ปางสดุ้งมารด้วยหินทรายสีขาวไว้ประจำปรางค์ (ปราสาท) เรียกพระชัยพุทธมหานาค

ยุคอยุธยา สร้างพระพุทธรูปปั้นไว้ประจำวิหารหลวง ปางสดุ้งมาร ศิลปะอยุธยายุคต้นก็เรียก อู่ทองยุคหลังก็เรียก อู่ทองหน้าหนุ่มก็เรียก 2 องค์หันหลังให้กัน ในความหมาย นอกจากเป็นที่สักการะประจำเมืองแล้ว ยังขออาราธนาให้ช่วยระวังหน้าระวังหลังด้วย ตามความเชื่อของคนยุคนั้น องค์หน้า เรียก พระมงคลบุรี องค์หลังเรียก พระศรีนัคร์

ยุครัตนโกสินทร์ สร้าง 4 องค์ โดยกรมการรักษาดินแดน ภาคเหนือพระราชทานไว้ ณ จังหวัดลำปาง ภาคตะวันออก พระราชทานไว้ ณ จังหวัดสระบุรี ภาคตะวันตก พระราชทานไว้ ณ จังหวัดราชบุรี ภาคใต้พระราชทานไว้ ณ จังหวัดพัทลุง เรียก พระนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จุตรทิศ

อ้างอิง
-มรกต งามภักดี. (2543). ราชบุรี. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา.
-พระเทพวิสุทธาภรณ์. (2550). สังเขปประวัติวัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี. เอกสารอัดสำเนา.

บทความที่เกี่ยวข้อง
วัดมหาธาตุราชบุรี ของดีที่ถูกลืม

หากท่านใดข้อมูลเพิ่มเติม สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ในท้ายบทความนี้

อ่านต่อ >>