วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

การสักยันต์ในราชบุรี : หลวงปู่หนู ฉินนะกาโม เจ้าตำรับหนุมานเชิญธงแห่งเมืองโอ่ง

หลวงปู่หนู ฉินนะกาโม
วัดทุ่งแหลม อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

คำนิยม
เจ้าตำรับหนุมานเชิญธงแห่งเมืองโอ่ง รวมทั้งเหรียญของท่านมีพุทธคุณสูงเป็นที่เล่าขานกันปากต่อปากมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะประสบการณ์ด้านแคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพันชาตรี และสยบ “ระเบิด”

คำนิยม
ย้อนไปเมื่อ 20-30 ปีก่อน ทหารในค่ายภาณุรังษี และ ชายฉกรรจ์ในแถบราชบุรี - กาญจนบุรี ต่างพากันไปกราบขอรอยสักจากหลวงปู่หนู วิชาที่โดดเด่นสุดของท่านคือ "หนุมานเชิญธง" ว่ากันว่า เหนียวสุดฯ สรรพวิชาของหลวงปู่หนูทั้งหมดตกไปอยู่ที่ หลวงพ่อดัด เจ้าอาวาสรูปต่อมา(หลวงพ่อดัดมรณภาพไปแล้ว) เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่มีผู้ใดสืบทอดไว้

ประวัติหลวงปู่หนู ฉินนะกาโม วัดทุ่งแหลม
หลวงปู่หนู ฉินนกาโม มีนามเดิมว่า หนู เจริญวิทยา เกิดเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2438 ที่ หมู่ 5 ต.หนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โยมบิดา ชื่อ นายฮง มารดาชื่อ นางบาง
จบชั้นประถมปีที่ ๔ โรงเรียนวัดหนองโพ แล้วช่วยบิดา-มารดาทำงานทางบ้าน จากนั้นได้บวชเป็นสามเณร ณ วัดหนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้ นักธรรมโท

เหรียญหลวงปู่หนู ฉินนกาโม วัดทุ่งแหลม รุ่นสุดท้าย,รุ่นแจกแม่ครัว และรุ่นคทาไขว้
เหรียญของหลวงปู่ที่เล่นหากันในราคาสูงมีอยู่ไม่กี่รุ่น ส่วนมากจะเป็นรุ่นแรก ๆ ส่วนรุ่นหลัง ๆ จะไม่ค่อยแพง พระเครื่องของท่านจึงถือว่าเป็นของดีราคาถูกเพราะส่วนมากจะทันท่านเสกหมด ปัจจุบันยังพอหาได้

นอกจากมงคลวัตถุของท่านจะศักดิ์สิทธิ์มีประสบการณ์มากมายแล้ว

ตัวท่านยังมีชื่อเสียงในด้านการสักอักขระเลขยันต์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทหารแถบกาญจนบุรี และราชบุรี เมื่อสมัย ๓๐-๔๐ ปีที่แล้ว ล้วนเป็นศิษย์หลวงปู่หนูมากมาย โดยเฉพาะยันต์หนุมานเชิญธงถือว่าหลวงปู่เป็นเจ้าตำรับ

เหรียญหลวงปู่หนู รุ่นแรก วัดทุ่งแหลม
หลังจากสิ้นหลวงปู่หนูแล้ว พระครูดัด เจ้าอาวาสรูปต่อมาท่านได้รับวิชานี้ไว้ แต่ไม่ได้ลงมือสักเอง ได้ให้ฆราวาสท่านหนึ่งเป็นผู้ลงเข็มสักให้ ส่วนท่านจะเป่าครอบเอง ต่อมาอาจารย์ฆราวาสท่านนั้นก็ได้วางเข็มไปในที่สุด

ขณะบวชเป็นสามเณร ท่านได้สนใจศึกษาวิชาทางไสยศาสตร์และเวทมนตร์คาถาพุทธาคม ต่าง ๆ จึงไปเรียนกับ หลวงพ่อหลาบ วัดเนินตอ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี จนเชี่ยวชาญ จากนั้นได้ไปเรียนกับ หลวงพ่อหลุง วัดทุ่งสมอ อีก 3 ปี กระทั่งอายุครบบวชในปี พ.ศ. 2458  จึงทำการอุปสมบทที่ วัดใหม่เจริญผล โดยมี หลวงพ่อปลิว เป็นพระอุปัชฌาย์แล้วไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดเขาคร้อ หนึ่งพรรษาจึงไปเรียนวิชาพุทธาคม และวิปัสสนากับ “หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน” จ.สุพรรณบุรี

จากนั้นได้ไปเรียนวิชากับ หลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง และหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง จ.นครปฐม ซึ่งระหว่างเรียนวิชากับ “หลวงพ่อแช่ม” นั้นท่านได้พบกับ ศิษย์อีกคนหนึ่งของหลวงพ่อแช่มที่มาเรียนด้วย คือ หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จ.นครปฐม  จากนั้นจึงไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดเขาคร้อ จนคณะสงฆ์เห็นในศีลาจารวัตรของท่านเหมาะสมจึงนิมนต์ให้ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดกระต่ายเต้น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี แต่อยู่ได้ไม่นานเกิดความเบื่อหน่ายกับการบริหารจัดการวัดร่วมกับกรรมการจึง ขอลาสิกขาออกไปใช้ชีวิตฆราวาสอยู่ที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ซึ่งระหว่างเป็นฆราวาสอยู่นั้นก็ยังคงปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ

ต่อมาเมื่อถึงวันที่ 30 เมษายน 2502 ท่านได้ตัดสินใจอุปสมบทอีกครั้ง ณ วัดกุฎบางเค็ม อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี โดยมี พระครูเกษมสุตคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาเปรย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฉินนกาโม” และไปจำพรรษาปฏิบัติธรรม ณ วัดไทยธรรมาราม อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี 5 พรรษาจึงกลับมาวัดกุฎบางเค็ม ชาวบ้านทุ่งแหลม เลื่อมใสในศีลาจารวัตรจึงนิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่วัดทุ่งแหลม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยได้ทำการพัฒนาวัดทุ่งแหลมจนเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับมา

ระหว่างอยู่วัดทุ่งแหลมนี้เองมีประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านมาก ท่านจึงได้สร้างมงคลวัตถุออกแจกจ่ายแก่ประชาชน และศิษยานุศิษย์มากมายหลายรุ่น ซึ่งก็มีประสบการณ์มากมาย จวบจนกระทั่งถึงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2529 ท่านจึงละสังขารมรณภาพอย่างสงบ คงทิ้งไว้แต่อนุสรณ์แห่งความดีงามและมงคลวัตถุตลอดจนสังขารที่ไม่เน่าเปื่อย ซึ่งทางวัดได้ใส่หีบแก้วไว้ให้เป็นที่พึ่งทางใจแก่ศิษยานุศิษย์ผู้เลื่อมใส ศรัทธาต่อไป

ที่มาของข้อมูลและภาพ
อาราธนานัง. (2553). เหรียญหลวงปู่หนู ฉินนกาโม วัดทุ่งแหลม : พระเครื่องตั้มศรีวิชัย.[Online]. Available :http://www.tumsrivichai.com/. [2554 มกราคม 21 ].
อ่านต่อ >>

การสักยันต์ในราชบุรี : อาจารย์เอื้อ เหล็งหวาน

สำนักสักยันต์อาจารย์เอื้อ เหล็งหวาน
อาจารย์เอื้อ เหล็งหวาน เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2504 อยู่บ้านเลขที่่ 100 หมู่ 3 (หน้าวัดหนองอ้อ) ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี  เป็นบุตรของนายวุ่น และนางเนียม เหล็งหวาน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาจำนวน 4 คน อาจารย์เอื้อเป็นบุตรคนสุดท้อง ครอบครัวของอาจารย์ฯ ประกอบอาชีพทำไร่อ้อยที่ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาม จ.ราชบุรี

สำนักอาจารย์เอื้อตั้งอยู่ใกล้บริเวณวัดหนองอ้อ หมู่ 3 ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี  ตัวอาคารมีลักษณะเป็นคูหาเปิดโล่งชั้นเดียว ประมาณ 100 ตารางเมตร สร้างอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวโดยมีเนื้อที่บริเวณบ้านประมาณ 3 งาน

อาจารย์เอื้อได้สนใจการสักยันต์มาตั้งแต่เด็ก อาจารย์เล่าว่าสมัยเด็กพ่อของอาจารย์เป็นหมอแผนโบราณหรือหมอหมู่บ้านจึงมีตำราหรือคัมภีร์ พวกนี้อยู่มาก  แต่พ่อของอาจารย์เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก พี่ชายจึงเป็นผู้ครอบครองตำราทั้งหมด และช่วงนั้นพี่ชายอาจารย์ก็ไม่สนับสนุนอาจารย์ในด้านนี้ เนื่องจากเห็นว่าอาจารย์ยังมีอายุน้อยเกินไป หากศึกษาอาจทำให้เสียสติได้ แต่ด้วยความรักและความชื่นชอบในศาสตร์ด้านนี้ พอเริ่มอ่านหนังสือ ออกจึงแอบศึกษาเอาจากตำราที่มีอยู่

ต่อมาเมื่อมีอายุได้ 14 ปี พี่ชายเห็นว่าอาจารย์มีความสนใจด้านไสยศาสตร์อย่างจริงจัง จึงนำไปฝากเรียนวิชากับ ก๋งเผ่ง ซึ่งเป็นชาวไทย เชื้อสายจีนประกอบอาชีพตีมีด อยู่ที่ ต.บ้านสิงห์

ในครั้งแรกที่อาจารย์เข้าไปหาก๋งเผ่งนั้น จะเข้าไปในลักษณะเป็นลูกมือช่วยงานใส่ฟืน ปั๊มลม ตีมีด เพราะยังไม่กล้าพูดแสดงเจตจำนงค์ที่ชัดเจนว่า "จะมาขอเรียนวิชา" เมื่อมีความสนิทสนมคุ้นเคย ประกอบกับก๋งเผ่งได้สอบถามถึงจุดประสงค์ที่อาจารย์เอื้อแวะเวียนมาบ่อยๆ อาจารย์เอื้อจีงกล้าพูด "ขอวิชากับก๋งเผ่ง"

โดยบทเรียนบทแรกที่ก๋งเผ่งให้อาจารย์เอื้อมีเพียงตำราหนึ่งเล่มพร้อมกับคำสั่ง "ให้ไปศึกษาคาถาปฐมัง" ซึ่งเปรียบเสมือนวิชาขั้นพื้นฐานของการเริ่มต้นที่จะเรียนด้านไสยศาสตร์  อาจารย์เอื้อใช้เวลาศึกษาเพียง 3 เดือน ซึ่งนับได้ว่าใช้เวลาน้อยมากเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ซึ่งหากศึกษาต้องใช้เวลาถึง 1 ปี ขึ้นไป ทั้งนี้ก็เป็นเพราะอาจารย์มีพื่นฐานจากการศึกษาด้วยตนเอง มาบ้างแล้ว

ก๋งเผ่งได้ถ่ายทอดวิชาไสยศาสตร์มนต์ดำให้อาจารย์ โดยให้เลือกเพียงหนึ่งในสามวิชา คือ "ควายธนู วัวธนู เสือ" ในตอนแรกนั้น อาจารย์อยากเลือกศึกษาวิชาเสือแต่ก็ยังไม่แน่ใจ จึงไปปรึกษาคนเฒ่าคนแก่ได้รับคำแนะนำว่าให้เรียน "ควายธนู"  แต่อาจารย์ก็ยังเชื่อไม่สนิทใจจึง ได้ไปปรึกษาหลวงตาทอง วัดหนองอ้อ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือตั้งแต่ที่อาจารย์เป็นเด็กวัด หลวงตาทองก็แนะนำให้ศึกษาวิชาควายธนู เนื่องจาก หากมีควายกับเสือปะทะกันควายจะขวิดเสือ  ส่วนวัวนั้นจะขาอ่อนเวลาเผชิญหน้ากับเสือ ดังนั้นอาจารย์จึงตัดสินใจเลือกเรียนวิชาควายธนู จึงกลับ ไปบอกก๋งเผ่งและก่อนที่จะศึกษาก๋งเผ่ง ก็ให้อาจารย์สาบานว่าจะใช้วิชาก็ต่อเมื่อ

"ทนไม่ไหวจนร้องไห้น้ำตากลายเป็นสายเลือด"

ห้ามใช้ทำร้ายคนอื่นเพียงแค่โมโหหรือโกรธเล็กๆน้อยๆ เพราะไม่เช่นนั้นของจะเข้าตัวเองจะทำร้ายตัวเอง "จนถึงปัจจุบันอาจารย์ก็ยังไม่เคยใช้กับใคร"

ต่อมาเมื่ออายุได้ 16 ปี ได้ยินชื่อเสียงการสักยันต์ของหลวงพ่อเปิ่น แห่งวัดบางพระ จังหวัดนครปฐม จึงไปสักยันต์ที่วัดดังกล่าวโดยใน ครั้งแรกนั้นลูกศิษย์ขอหลวงพ่อเปิ่นได้สักยันต์แปดทิศให้กับอาจารย์ ซึ่งนับว่าเป็นรอยสักรอยแรกของอาจารย์ เมื่ออาจารย์เข้าไปที่วัดหลายครั้ง ทั้งในฐานะผู้รับการสักและเป็นลูกมือของศิษย์หลวงพ่อเปิ่น จนเวลาผ่านไปประมาณ 2 เดือน อาจารย์ก็ได้เป็นลูกมือให้กับหลวงพ่อเปิ่น และมีอยู่ ครั้งหนึ่งที่หลวงพ่อเปิ่นสักให้กับนายตำรวจท่านหนึ่ง อาจารย์ก็ได้ไปช่วยจับหนังให้ตึงระหว่างการสัก พอสักเสร็จอาจารย์ก็ขอให้หลวงพ่อเปิ่นสักลายเสือเผ่นที่บริเวณหน้าอกให้ รวมเวลาที่ใช้ศึกษาวิชากับหลวงพ่อเปิ่นที่วัดบางพระนั้น นานกว่า 10 ปี

ซึ่งการศึกษาที่วัดบางพระนี้เป็นลักษณะ ไปๆ กลับๆ ระหว่างที่วัดกับบ้านที่ราชบุรี ช่วงนี้เองที่อาจารย์เริ่มแอบสักยันต์ให้กับเพื่อนรุ่นน้องที่สนิทสนมกัน โดยสักลายเสือแต่ไม่ค่อยสวยงาม เท่าใดนัก สาเหตุที่เลือกสักลายเสือเป็นลายแรกเพราะมีความชอบลายเสือเป็นการส่วนตัว ส่วนอุปกรณ์การสักนั้นอาจารย์บอกว่าซื้อหมึกจีนมาจากตลาด และเข็มอาจารย์ทำเองโดยใช้สแตนเลสตันมาผ่าแล้วฝนปลายด้วยตะไบและนำกระดาษทรายขัดจนปลายแหลมเท่าเข็มเย็บผ้า ขนาดเข็ม ของอาจารย์ก็ทำในขนาดที่ถนัดมือ แบบพิมพ์ลายสักอาจารย์ก็ใช้ปากกาเขียนบนกระดาษซ้ำไปซ้ำมาแล้วก็เอามาแปะกดทับผิวเพื่อเกิดรอย ปากกาบนหน้าอก

ในขณะเดียวกันมีเสียงล่ำลือว่า หลวงปู่หนู แห่งวัดทุ่งแหลม จ.ราชบุรี สักลายหนุมานได้สวยงามและศักดิ์สิทธิ์มาก จึงขอสมัครตัวเป็น ลูกศิษย์โดยหลวงตาทอง วัดหนองอ้อ เป็นคนฝากฝังกับหลวงปู่หนูให้เพื่อเรียนรู้วิชาโดยเฉพาะการสักหนุมานสะบัดธงและการปลุกเสกตะกรุดโทน โดยใช้เวลาเพียง 1 วันเพราะมีพื้นฐานทางอาคมอยู่แล้วเพียงแต่ไปขอคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้คาถาเท่านั้น

ต่อมาได้ไปเรียนวิชาทำกุมาร,รักยมและคาถาเมตตามหานิยมจาก หลวงพ่อขวัญ วัดโพธิ์ดก ต.เขาพระเอก อ.เมือง จ.ราชบุรี

ต่อจากนั้นอาจารย์ก็เดินทางไปทำงานกับพี่สาวที่ ต.โขนงพระ อ.เขาพระเอก จ.นครราชสีมา ประมาณ 2-3 ปี จนได้รู้จักกับ นายจิตศิษย์ ของพ่อใหญ่ (ฆราวาสธรรม ถือศีลนุ่งขาวห่มขาว) ซึ่งอาจารย์ก็ได้เรียนรู้วิชาเมตตามหานิยมเพิ่มเติม

เมื่ออายุครบบวช (20ปี) อาจารย์ได้บวชพระที่วัดหนองอ้อ อ.โพธาราม ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้าน ช่วงนี้เองที่อาจารย์ได้เรียนรู้วิชาด้านการ ปลุกเสกวัตถุมงคล เช่น สายสิญจน์ เสื้อลงยันต์ ผ้ายันต์ ปลัดขิก กับ หลวงพ่อสายหยุด วัดสะกรังเจริญธรรม จ.สุพรรณบุรี และรับสักยันต์บ้างให้กับคนรู้จัก บวชเรียนอยู่นาน 4  ปี ก็สึกออกมาช่วยงานทางบ้าน จนได้แต่งงานอยู่กินกับภรรยาและมีลูกสาว 1 คน

แต่ในที่สุดก็พบว่าไปด้วย กันไม่ได้ จึงแยกทางกัน อาจารย์ก็กลับมาบวชอีกครั้งที่วัดหนองอ้อ ในครั้งนี้เองอาจารย์ได้รับสักยันต์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และเริ่มมีชื่อเสียงใน ละแวกใกล้เคียง แต่เนื่องจาก วัดมีกิจต้องปฏิบัติเป็นอันมากประกอบกับอาจารย์คิดว่าการสักยันต์ไม่ใช่กิจของสงฆ์  ทำให้ตัดสินใจสึกออกมาเปิด สำนักรับสักยันต์โดยเฉพาะ รวมเวลาบวชเรียนในครั้งที่ 2 นี้ นานถึง 10 ปี

และอาจารย์คนสุดท้ายของอาจารย์เอื้อ ที่สอนการเขียนเลขยันต์และการสักยันต์ให้จนหมดคือ อาจารย์เฉลิมฯ  ซึ่งเป็นศิษย์หลวงพ่อแทน ที่มีชื่อเสียงเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา อาจารย์เฉลิมฯ ได้ถ่ายทอดวิชาทั้งหมดให้กับอาจารย์เอื้อจนหมด ทั้งผูกและทั้งแก้ จากนั้นอาจารย์เอื้อก็ไม่ เรียนวิชาจากใครอีกเลย



สักยันต์ ของขึ้น อาจารย์เอื้อ จ ราชบุรี
ที่มา : http://vdo.palungjit.com/video/146973/สักยันต์-ของขึ้น-อาจารย์เอื้อ-จ-ราชบุรี
สำนักอาจารย์เอื้อ ได้เปิดรับสักยันต์มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน
โทร.08-2458-6281 (เว้นวันพุธ)


ที่มาข้อมูลและภาพ
IGETWEB.(2552). ประวัติสำนักสักยันต์อาจารย์เอื้อ เหล็งหวาน.[Online]. Available : http://www.arjanuea.com/index.php. [2554 มกราคม 21 ].
อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

พระครูสังฆกิจบริหาร (หลวงพ่อฟัก) วัดบ้านโป่ง

เหรียญหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง" สร้างปี พ.ศ.2461
 พระครูสังฆกิจบริหาร (ฟัก) วัดบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

ท่านเป็นคนจีนเชื้อสายจีนแคระ บ้านอยู่ห้วยลึก อำเภอบ้านโป่ง ตามประวัติว่าท่านบรรพชาเป็นสามเณร ตั้งแต่อายุได้ 12 ปี เพื่อทดแทนคุณให้กับบิดาซึ่งถึงแก่กรรม และบวชเรื่อยมาโดยไม่ต้องลาสิกขา ครั้นเมื่ออายุครบ 20 ปี จึงได้อุปสมบท โดยมีพระอธิการโพธิ์เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่ออุปสมบทแล้วก็ปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ขยันทำวัตรสวดมนต์ มั่นคงอยู่ในศีล กิตติคุณของท่านที่ปรากฏเล่าลือ คือ ท่านเป็นพระทรงวิทยาคุณหลายด้าน และคุณธรรมอันวิเศษที่หลวงพ่อมอบให้กับประชาชนโดยทั่วไป

ในราวปี พ.ศ. 2458 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ได้เสด็จประทับแรมที่วัดบ้านโป่ง และกล่าวถึงวัดตอนหนึ่งว่า "วัดบ้านโป่งที่เสด็จประทับแรมนี้มีพระสงฆ์ 19 รูป เป็นที่อยู่ของพระสังฆกิจบริหาร เจ้าคณะแขวง มีต้นไม้ใหญ่ๆ เป็นรมณียสถาน ทั้งการรักษาความสะอาดเรียบร้อยดี"

ท่านพระครูสังฆกิจบริหาร (ฟัก) ได้เป็นกำลังสำคัญของการพระศาสนาตลอดมากระทั่งถึงราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2461 จึงได้มรณภาพ สิริอายุได้ 60 ปี พรรษาที่ 40

ตามประวัติคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อฟักท่านมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ อย่างเช่น  มีคนมาลักเอาขนุนไปหนึ่งลูก หลวงพ่อถามศิษย์ว่าใครมาเอาไปให้ไปบอกมันมาจะได้ยกให้ไม่เป็นบาป "ถ้ามาลักอีกมีหวังตกแน่" ต่อมามีผู้มาลักขนุนอีกผลปรากฏว่าร่วงหล่นมาตามวาจาของท่าน 

และในสมัยก่อนที่ต้องเดินทางโดยรถไฟ เวลาหลวงพ่อจะมาขึ้นรถไฟ ถ้าหลวงพ่อยังมาไม่ถึง รถไฟจะไปไม่ได้ต้องรอให้ท่านขึ้นก่อน จึงจะออกรถได้ ถึงกับมีคนเล่าลือกันว่าหลวงพ่อฟักหยุดรถไฟได้ และความเมตตากรุณาของหลวงพ่อ ก็คือ หลวงพ่อจะทำยาอายุวัฒนะ ดองแจกจ่ายชาวบ้านเสมอโดยหลวงพ่อจะทำใส่โอ่งทิ้งไว้ ชาวบ้านก็มาตักยาไปกินกันเสมอ เป็นยาบำรุงกำลังและอายุวัฒนะขนาดวิเศษที่ขึ้นชื่อมาก


"เหรียญหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง" นี้ สร้างในปี พ.ศ.2461 จากการสอบถามประวัติแล้วได้ความว่า สร้างขึ้นภายหลังจากหลวงพ่อมรณภาพแล้ว โดยลูกศิษย์ของหลวงพ่อชื่อ "พระครูชื่น" เป็นผู้จัดสร้างเพื่อแจกศิษยานุศิษย์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ จำนวนประมาณ 1,000 เหรียญ มีด้วยกัน 2 พิมพ์ ได้รับความนิยมเหมือนกันทั้งสองพิมพ์

พระครูชื่นภายหลังได้รับสมณศักดิ์เป็น "พระครูโยคาภิรมย์" ตำแหน่งเจ้าคณะแขวง เมื่อจัดสร้างวัตถุมงคลเหรียญเสร็จแล้ว ได้นำไปถวายพระอุปัชฌาย์เข็ม วัดม่วง แผ่เมตตาจิตปลุกเสก ฉะนั้นวัตถุมงคลเหรียญพระครูสังฆกิจบริหาร (ฟัก) จึงน่าจะเป็นรูปแบบตัวอย่างของเหรียญในย่านจังหวัดราชบุรี ที่สร้างขึ้นหลังจากปี พ.ศ.2461


ที่มาข้อมูล
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

เหรียญพระพุทธวิริยากร วัดสัตตนารถ ราชบุรี..เหรียญพระสงฆ์เหรียญแรกของประเทศไทย


พระพุทธวิริยากร (จิตร ฉนฺโน)
เจ้าอาวาสวัดสัตตนารถปริวัตร พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรวิหาร รูปที่ 3 ระหว่างปี พ.ศ.2437-2457
เกิด วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2390 ณ บ้าน ต.คลองขยายแฝง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
อุปสมบท เมื่อปี พ.ศ.2411 ณ วัดตาล ต่อมาอยู่วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี
มรณภาพ วันที่ 7  มกราคม พ.ศ.2457
รวมสิริอายุ 68 ปี 47 พรรษา
หมายเหตุ ตำแหน่งพระพุทธวิริยากร เป็นสมณศักดิ์พระราชาคณะ ชั้นสามัญ

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม
วัตถุมงคลที่นิยิมในปัจจุบันมีอยู่ 2 รุ่น คือเหรียญเต่า และเหรียญพระแก้ว
  • เหรียญรุ่นแรก (เหรียญเต่า)  สร้างปี พ.ศ.2458  ถือว่าเป็นเหรียญพระสงฆ์เหรียญแรกของประเทศไทย สร้างเพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพพระพุทธวิริยากร ( จิตร ฉนฺโน ) เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2459 ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น   เนื่องจากมัคทายกของวัดฯ มีบุตรชายทำงานด้านการช่างที่ญี่ปุ่น เป็นคนดำเนินการจัดสร้างให้    มี 2 ชนิด คือ เหรียญปั๊ม และเหรียญหล่อ แต่สร้างคนละครั้งกัน โดยเหรียญปั๊มเนื้อทองแดงสร้างก่อนพอแจกหมด จึงทำเหรียญหล่อขึ้นมาอีก ปลุกเสกโดยพระครูวินัยธรรมอินทร์ (พระที่ชาวจังหวัดราชบุรีเคารพนับถือมาก และพากันขนานนามท่านว่า "หลวงปู่เฒ่าอินทร์เทวดา") และพระคณาจารย์ชื่อดังของยุคนั้นหลายองค์ด้วยกัน

เหรียญพระพุทธวิริยากร(หลวงพ่อจิตร) วัดสัตตนารถ
สร้างปี 2458 เนื้อทองแดงอาบเมฆพัด
 เหรียญพระสงฆ์เหรียญแรกของประเทศไทย

  •  ส่วนเหรียญพระแก้วมรกต สร้างปี พ.ศ.2481 รุ่นนี้เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดราชบพิตร เมื่อปี พ.ศ.2481 ในงาน "พิธีหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช เจ้ากรมหลวงชินวรณ์สิริวัฒน์ "โดยมี พระยาศรีสุรสงคราม เป็นแม่งาน และสมเด็จพระสังฆราช (แพ)เมื่อครั้งสมณศักดิ์เป็น “พระวันรัต” เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในพิธีครั้งนั้นนับได้ว่าเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่และสำคัญ ที่พระเถราจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษเข้าร่วมพิธีอย่างมากจำนวนถึง 108 รูป 
เหรียญพระแก้วมรกฎ สร้างปีพ.ศ.2481
พุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมา
วัตถุมงคลของท่าน เด่นทางด้าน เมตตามหานิยม และด้านทำธุรกิจค้าขาย

ด้านส่งเสริมการศึกษา
  • ในปี พ.ศ.2455 พระพุทธวิริยากร (จิตร ฉนฺโน) ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสัตนารถปริวัตร ได้อนุญาตให้ใช้ที่ดินของวัดเนื้อที่ 3 ไร่ 90 ตารางวา เป็นที่ปลูกสร้างอาคารเรียนถาวร ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ตามที่ทางราชการธรรมการมณฑลราชบุรี พ่อค้า ประชาชน และข้าราชการได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่มาข้อมูลและภาพ
  • หมูหิน.คอม. (2553). พระพุทธวิริยากร วัดสัตตนารถ : หมูหิน : พระเครื่อง. [Online]. Available :http://p.moohin.com/038.shtml. [2554 มกราคม 11 ].
  • Prince พระเครื่องพระบูชา. (2553).เหรียญพระพุทธวิริยากร(หลวงพ่อจิตร)วัดสัตตนารถ ปี 2458 : พระเกจิอาจารย์สายราชบุรี. [Online]. Available :http://princeamulet.tarad.com/product.detail_618784_th_2879501#. [2554 มกราคม 11 ].
  • อชิตะ. (2553). เหรียญที่ถูกลืม เหรียญพระพุทธวิริยากร : บอร์ดศิษย์วัดชายนา. [Online]. Available :http://fws.cc/sitwadchaina/index.php?topic=194.0. [2554 มกราคม 11 ].
  • โรงเรียนเบญจมราชูทิศ. (2542). ประวัติวัดสัตนารถปริวัตร : หนังสือครบรอบ 111 ปี โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี. (หน้า 14)
อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

พระครูอินทเขมาจารย์ (ห้อง) วัดช่องลม


เหรียญ หลวงพ่อห้อง วัดช่องลม จ.ราชบุรี
เหรียญหล่อรุ่นแรก สร้างปี พ.ศ.2465
เหรียญ หลวงพ่อห้อง วัดช่องลม จ.ราชบุรี เหรียญปั๊มรุ่นแรก สร้างปี พ.ศ.2465

พระครูอินทเขมาจารย์ (ห้อง) นามฉายาเมื่ออุปสมบท พุทธสโร
ท่านได้ถือฤกษ์เกิดวันอาทิตย์ ตรงกับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2388  ณ บ้านตำบลหน้าเมือง จังหวัดราชบุรี
บิดาชื่อ "แสง" มารดาชื่อ "นาค"

เมื่ออายุครบ 20 ปี พ.ศ.2409 ได้อุปสมบทที่ วัดช่องลม โดยมีพระอธิการวัดช่องลมเป็นพระอุปัชฌาย์พระครูธรรมเสนา (เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระปลัดจันทร์ วัดพญาไม้) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อเรือง (สมณศักดิ์ต่อมาพระครูอินทเขมา วัดท้ายเมือง)  เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ภายหลังอุปสมบท ได้ศึกษาพระธรรมวินัยปฏิบัติธรรมในสำนักที่มีชื่อหลายวัดเช่น วัดช่องลม วัดพญาไม้ วัดท้ายเมือง ภายหลังได้เปลี่ยนแนวทางไปในด้านวิปัสสนากรรมฐาน 

สมณศักดิ์
  • พ.ศ.2432 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระครูอินทเขมาจารย์ ตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัด
  • พ.ศ.2455 ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี
  • พ.ศ.2461 ชราภาพจึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าไว้ในตำแหน่งกิตติมศักดิ์ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2461 ขณะที่มีชีวิตอยู่
วัตถุมงคล
บรรดาศิษย์พากันขนานนามให้หลวงพ่อว่า “หลวงปู่ใหญ่” ส่วนพระภิกษุน้องชายของท่านได้นามว่า “หลวงปู่เล็ก” คณะศิษย์ได้จัดสร้างวัตถุมงคลเหรียญรูปของหลวงพ่อห้อง มีเหรียญปั๊ม 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หน้าเล็ก กับพิมพ์หน้าใหญ่ สำหรับพิมพ์หน้าใหญ่นี้มีการจัดสร้างน้อยจึงไม่ค่อยจะพบเห็น นอกจากเหรียญปั๊มแล้วเหรียญหล่อก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน เหรียญรุ่นแรกคือเหรียญ ปี พ.ศ. 2465 ซื่งหาแทบไม่มีแล้ว รองลงมาคือปี พ.ศ.2497

หมายเหตุ : รูปภาพประกอบผู้จัดทำไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ หากท่านใดทราบได้โปรดแสดงความคิดเห็นที่ท้ายบทความด้วยครับ รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุมงคลด้วยครับ

ที่มา
อ่านต่อ >>

หลวงปู่ม่วงเกจิอาจารย์ดังแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง


พระครูสุนทรจริยาวัตร (ม่วง นาคเสนโน)  หรือหลวงปู่ม่วง มีนามเดิมว่า ม่วง พุ่มโรจน์
เกิดเมื่อวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2455 ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 ปีชวด ณ บ้านหมู่ที่ 5 ต.ปากท่อ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี
อุปสมบทเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2474 ณ วัดปากท่อ โดยมีพระราชเขมาจารย์ (หลวงพ่อเปราะ) วัดช่องลม อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

  • พ.ศ.2476 ศึกษาสำเร็จนักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนวัดปากท่อ
  • พ.ศ.2478 สอบได้นักธรรมชั้นโท
  • พ.ศ.2480 จบพระปาฏิโมกข์ และเป็นครูสอนนักธรรม
  • พ.ศ.2501 เป็นเจ้าสำนักเรียนพระปริยัติธรรมวัดยางงาม และเป็นผู้อุปการะโรงเรียนประชาบาลวัดยางงาม นอกจากนี้ ยังให้พิมพ์หนังสือบทความธรรมะ แจกจ่ายแก่พระภิกษุ สามเณรและบุคคลทั่วไป ทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา และบำเพ็ญงานสาธารณประโยชน์ บูรณะกุฏิสงฆ์ทรงไทยเรือนไม้ ศาลาหอฉัน สร้างสะพานข้ามคลองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม พร้อมทั้งจัดสร้างถาวรวัตถุต่างๆ อีกมากมาย
แม้ในชั้นแรก ท่านจะตั้งใจบวชเรียนเพียง 2-3 พรรษา แต่เมื่อได้ร่ำเรียนพระปริยัติธรรม และซาบซึ้งในรสพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงไม่คิดลาสิกขา ตั้งใจเด็ดเดี่ยวหันหลังให้ชีวิตทางโลกอย่างสิ้นเชิง และต่อมาท่านตัดสินใจเดินทางมาอยู่ที่วัดยางงาม ร่วมกับพระลูกวัด และชาวบ้าน และได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พัฒนาวัดยางงามอย่างต่อเนื่อง จนทำให้วัดซึ่งแต่เดิมเป็นวัดตามชนบท ได้เริ่มฉายแววแห่งความสง่างามขึ้นตามลำดับ  ทางวัดยางงามได้จัดให้มีการสอนธรรมะ เพื่อสร้างประชาชนคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจธรรมมะ มีการเปิดโรงเรียนสอนพระอภิธรรมให้แก่ชาวบ้าน และผู้สนใจ มีชาวบ้าน และผู้สนใจมาร่วมเข้าเรียนกันอย่างมากมาย 

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
  • พ.ศ.2488 เป็นเจ้าคณะตำบลจอมประทัด
  • พ.ศ.2501 เป็นเจ้าอาวาสวัดยางงามและเจ้าคณะตำบลปากท่อ
  • พ.ศ.2508 เป็นพระอุปัชฌาช์
  • พ.ศ.2540 เป็นรองเจ้าคณะอำเภอปากท่อ
ลำดับสมณศักดิ์
  • พ.ศ.2501 เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ เป็น พระครูสุนทรจริยาวัตร
  • พ.ศ.2521 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม
งานด้านการศึกษา
  • พ.ศ.2480 เป็นครูสอนนักธรรม ณ สำนักเรียนวัดยางงาม
  • พ.ศ.2501 เป็นเจ้าสำนักเรียนพระปริยัติธรรมวัดยางงาม และเป็นผู้อุปการะโรงเรียนประชาบาลวัดยางงาม
ในการส่งเสริมการศึกษา หรือการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หลวงปู่ม่วง จัดให้มีการอบรมศีลธรรม จริยธรรม แก่ประชาชนทั่วไป ในแต่ละปีจะจัดให้มีการบวชชีพราหมณ์ขึ้น ในวันสำคัญต่างๆในทางพระพุทธศาสนา แม้ในวันหยุด เช่น วันเสาร์-อาทิตย์ ก็มีคนมาร่วมบวชชีพราหมณ์กับท่านอยู่เป็นประจำมิได้ขาด นอกจากนี้ยังจัดให้มีการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน อบรมวิปัสสนากัมมัฏฐานทุกปี จัดสวดพระปาฏิโมกข์ และฟังการอ่านพระปาฏิโมกข์แปล ทุกวันพระ 15 ค่ำ กลางเดือน และสิ้นเดือน

นอกจากนี้ยังจัดให้มีการพิมพ์หนังสือ บทความธรรมะ แจกจ่ายแก่พระภิกษุ สามเณร และบุคคลทั่วไป จัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา ในเขตโรงเรียนประถมศึกษาต่างๆ พร้อมทั้งการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ งานสาธารณูปการ อีกทั้งบูรณะ และพัฒนากุฏิสงฆ์ไม้เรือนไทย ศาลาหอฉัน สร้างสะพานข้ามคลองยาว 15 เมตร กว้าง 2 เมตร เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม อีกทั้งยังจัดสร้างถาวรวัตถุอีกมากมายหลายอย่าง

ชาวบ้านที่เดินทางมาเข้าร่วมพิธีอุปสมบทหรือบวชชีพราหมณ์ หลวงปู่ม่วง จะเป็นผู้ที่สั่งสอนด้วยตนเอง โดยจะเน้นให้ทุกคนปฏิบัติตนให้เป็นคนดี และให้มีจิตใจเมตตา เมื่อมีความเมตตาแล้ว ทุกอย่างจะตามมา และประสบความสำเร็จ หลวงปู่ม่วงเป็นพระที่มีความเมตตา ไม่เคยดุด่าว่าใคร ทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่ง ท่านเคยปรารภว่า อยากให้ทุกคนมีความเมตตา ด้วยมีเมตตาแล้ว สิ่งดีจะบังเกิดตามมา

สิ่งที่หลวงปู่ม่วงได้กล่าวเน้นย้ำให้ทุกคนฟัง และให้ทุกคนจำให้ขึ้นใจมีว่า  "ขอให้ทุกคนจงรักษาศีล ทำแต่ความดี เมตตาเขา เขาเมตตาเรา ธรรมะจะรักษาคน ธรรมะจะรักษาตัว ธรรมะจะรักษาใจ ทั้งหมดรวมไว้ในเมตตาธรรม แจกธรรมะ ดีกว่าแจกพระเครื่อง"

หลวงปู่ม่วง เป็นพระที่มีความเมตตา ไม่เคยดุด่าว่าใคร ทำให้ชาวบ้านต่างเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่ง ท่านเคยปรารภว่า อยากให้ทุกคนมีความเมตตา โดยเมื่อมีเมตตาแล้ว สิ่งดีๆจะบังเกิดตามมา มีคำร่ำลือกันว่า หลวงปู่ม่วง มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พูดสิ่งใด มักจะเป็นอย่างที่พูดเสมอ ท่านมีศิษยานุศิษย์ที่เคารพนับถือมีทุกระดับชั้น ตั้งแต่ข้าราชการ นักการเมือง พ่อค้าประชาชน ไปจนถึงประชาชนระดับรากหญ้า

นอกจากนี้หลวงปู่ม่วงท่านยังเคยได้ปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ จ.สมุทรสงคราม ร่วมกับหลวงปู่หยอด วัดแก้วเจริญ หลวงปู่ม่วงท่านจะมีอายุเท่าๆ กับหลวงปู่หยอด สมัยหลวงปู่หยอด ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะไปมาหาสู่กันบ่อยมาก เพราะท่านเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน

ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคลที่หลวงปู่ม่วงได้อธิษฐานจิต เป็นที่ปรารถนาของบรรดาศิษยานุศิษย์ เพราะก่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์ต่างๆอย่างมากมาย วัตถุมงคลที่เคยทำออกมา อาทิ เหรียญหลวงปู่ม่วง จัดสร้างปี พ.ศ.2528 งานปิดทองฝังลูกนิมิต จัดเป็นเหรียญรุ่น 1 ต่อมาได้จัดทำเชือกมงคลด้าย 7 สี เหรียญลงยา พระปิดตา ฯ วัตถุมงคลแต่ละรุ่นจะมีประวัติการสร้างไม่ซ้ำกัน ส่วนใหญ่ลูกศิษย์จะสร้างถวาย
 
วัตถุมงคลต่างๆที่ลูกศิษย์ได้นำไปบูชานั้น ลูกศิษย์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โดดเด่นด้านเมตตามหานิยม และอยู่ยงคงกระพัน เคยมีผู้ที่มีประสบเหตุการณ์รอดตายจากอุบัติเหตุ รอดพ้นภยันตรายต่างๆ แคล้วคลาดไม่ได้รับบาดเจ็บมาหลายคน ทำให้เหล่าลูกศิษย์ต่างเชื่อมั่นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวัตุมงคลของหลวงปู่ม่วง ที่คอยคุ้มครองปกปักรักษาให้ทุกคนปลอดภัย เสียงร่ำลือจากปากสู่ปากนี่เองทำให้ประชาชนชาวจังหวัดราชบุรี และประชาชนทั่วประเทศ มุ่งหน้าเดินทางมาที่วัดยางงาม เพื่อขอพร และให้หลวงปู่ม่วง เสกเป่ากระหม่อม เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตนเอง และครอบครัว วัตถุมงคลของท่าน ในปัจุบันก็มีให้บูชาบ้างไม่มากนัก ส่วนใหญ่ศิษย์จะทำถวาย เช่น เหรียญชุด 3 องค์ ชุบทอง นาค เงิน ท่านรองเจ้าอาวาสจัดสร้างขึ้นเพื่อหารายได้สร้างถาวรวัตถุภายในวัด,ล็อคเก็ตรูปเหมือนหลวงปู่ และยังมีตะกรุดจารมือหลายขนาด ขลังมาก

หลวงปู่ม่วงมักจะถูกนิมนต์ ให้ไปร่วมพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลตามวัดต่างๆทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอยู่เป็นเนืองนิตย์ ท่านมีความคิดพัฒนาอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ ทำให้ท่านมุ่งมั่นทำงานเผยแผ่พระธรรมอย่างต่อเนื่อง ยึดมั่นที่จะเดินหน้าให้ทุกคนรับความรู้สัจธรรมแห่งชีวิต สมกับฉายานามที่ได้รับเป็น พระเกจิอาจารย์แห่งลุ่มน้ำแม่กลอง แต่อย่างไรก็ตาม ท่านเคยกล่าวว่า “แจกธรรมะ ดีกว่าแจกพระเครื่อง”

ท่านเรียนมาจากพระอาจารย์ท่าน คือ หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ สมัยหลวงปู่ใจ ยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะสร้าง ตะกรุดลูกอมโลกธาตุ ซึ่งถ้าท่านใดที่ชอบสะสมเครื่องรางจะรู้จักกันดี ตะกรุดอีกอย่างที่สร้างชื่อเสียงให้กับหลวงปู่ใจ คือ ตะกรุดนเรศวรปราบหงสา ซึ่งปัจุบันหาได้ยากมาก

หลวงปู่ม่วงสร้างตะกรุดตามวิชาของอาจารย์ท่าน คือหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ซึ่งมีการจัดทำขึ้นหลายขนาด ขนาดยาว 9 นิ้ว ก็มี แผ่นโลหะจะจารมือ และพอกผงพุทธคุณ เมื่อแห้งดีแล้วมีการลงรักปิดทอง แล้วจึงเขียนยันต์ด้วยลายมืออีกที ตะกรุดทุกดอกจะใส่เส้นเกษาหลวงปู่ลงไปด้วยครับ ตะกรุดที่สร้างท่านจะไม่ให้ลูกศิษย์ปัมพ์ยันต์เด็ดขาดต้องจารมือเท่านั้น นอกจากนี้ถ้าใครไปกราบท่าน ท่านจะแจกลูกอม บางครั้งก็เป็นรูปถ่ายหลังยันต์เพื่อให้ประชาชนนำกลับไปสักการะบูชา

มรณภาพ
เมื่อเวลา 10.17 น.วันที่ 22 ส.ค.2552 หลวงปู่ม่วง ได้มรณภาพอย่างสงบ ณ ตึกสงฆ์ โรงพยาบาลราชบุรี ด้วยโรคมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้หลวงปู่มีโรคประจำตัวหลายโรคมีทั้งโรคไต โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ รวมอายุได้ 98 ปี 78 พรรษา

อ่านข่าว หลวงปู่ม่วงเกจิดังแห่งเมืองโอ่งมรณะภาพแล้ว


ที่มาข้อมูลและภาพ
  • นิลศิลป์.(2551). หลวงปู่ม่วง วัดยางงาม ศิษย์ผู้สืบทอดพุทธาคมจากหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ที่ยังไม่ละขันธ์ : พลังจิต. [Online]. Available :http://board.palungjit.com/. [2554 มกราคม 9 ].
อ่านต่อ >>

วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ วัดปราสาทสิทธิ์ จ.ราชบุรี

"หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์"เป็น พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งวัดปราสาทสิทธิ์ ม.5 ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ที่ชาวบ้านให้ความศรัทธาและมีประวัติอันยาวนานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3

ประวัติหลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์
ความเป็นมาของ หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ ได้รับการบอกเล่าจากคนเก่าแก่อย่าง พระครูสมุห์รวีโรจน์ วรมังคโล รองเจ้าอาวาสวัดปราสาทสิทธิ์ ว่า เมื่อ พ.ศ.2371 รัชสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงปรารภว่า คลองสุนัขหอน ทางแม่กลองมาชนกับทางแม่น้ำท่าจีนที่ ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ทำให้คลองตื้นเขินบ่อยๆ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้การขุดคลองแต่ละครั้งจะใช้ได้นานๆ เจ้าพระยาคลัง (ดิศ บุญนาค) ทูลแนะว่าให้ขุดคลองแยกจากคลองสุนัขหอนหรือคลองควายในปัจจุบัน ผ่านมาทางริมหมู่ บ้านโพหัก

ดังนั้น รัชกาลที่ 3 จึงรับสั่งให้ขุดคลองขึ้น โดยชาวจีนผู้รับจ้างที่อาศัยอยู่ที่โคกสูง ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนิน สะดวก ซึ่งเป็นที่ตั้งอุโบสถในปัจจุบัน กระทั่งเมื่อขุดเสร็จ เจ้าพระยาคลังได้มาตรวจดูคลอง สมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ หรือท่านช่วง บุญนาค ได้ติดตามบิดามาด้วย ตอนนั้นเจ้าพระยาคลังได้ปรารภว่า "โคกนี้สูงใหญ่กว้างขวางเหมาะที่จะสร้างวัด" แต่แล้วก็ยังไม่ได้มีการจัดสร้างวัด

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้รับสั่งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ดำเนินการขุดคลองดำเนินสะดวกเป็นระยะทางยาว เมื่อขุดคลองมาถึงหลักห้า พระยาศรีสุริยวงศ์ก็ระลึกถึงคำปรารภของเจ้าพระยาคลังผู้เป็นบิดาที่เคยปรารภ ว่าอยากจะสร้างวัดที่บริเวณดังกล่าว

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ จึงตกลง ใจสร้างวัดขึ้นที่โคกนั้นด้วยสาเหตุ 3 ประการ คือ เพื่อทำตามความประสงค์ของบิดา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่น้องสาวที่วายชนม์ไปแล้ว และไว้สำหรับบำเพ็ญกุศลเหมือนกับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

พระครูสมุห์ รวีโรจน์ วรมังคโล เล่าว่า เมื่อสร้างวัดเสร็จ เจ้าคุณอริยมุนี วัดราชาธิวาส ได้มาเป็นประธานในพิธีผูกพัทธสีมา และในราว พ.ศ.2448 ท่านเจ้าอธิการแก้ว รัตนโชติ ก็ได้ย้ายศาลาการเปรียญไปไว้ริมเขื่อนด้านตะวันออก

ต่อมา พ.ศ.2456 วัดเดิม กุฏิและโบสถ์เกิดการแตกร้าวมาก ประกอบกับว่าพื้นที่เป็นโคกดินเหนียว พอถึงช่วงฤดูแล้งก็แตกระแหงลึกมากเกือบเมตร พอฤดูฝน ฝนตกมากๆ ดินก็ทรุดเกินที่จะปฏิสังขรณ์ได้อีก ท่านเจ้าอธิการแก้วจึงย้ายวัดมา อยู่ที่ริมคลองดำเนินสะดวก ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดในปัจจุบัน และเมื่อวัดสร้างเสร็จก็ตั้งชื่อว่า "วัดสมเด็จพระปราสาทสิทธิดาราม" แต่พอย้ายวัดลงมาอยู่ที่ริมคลองดำเนินสะดวก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เสด็จมาตรวจก็ทรงรับสั่งว่า วัดควรจะให้ตั้งชื่อตามตำบลที่ตั้งอยู่ว่า "วัดดอนไผ่" แต่วัดให้ใช้ตามทางราชการ ว่า "วัดปราสาทสิทธิ์"

ส่วน "หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์" องค์พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารหลังใหม่ ริมคลองดำเนินสะดวก เป็นพระพุทธรูปหินเขียวปางสมาธิ ศิลปกรรมสมัยอยุธยา หน้าตักกว้างประมาณ 60 นิ้ว สูง 3 ศอกคืบ มีพระพักตร์กลมอิ่มยิ้ม พระอังสะและพระอุระใหญ่กว้างและผึ่งผายสง่างาม พระเพลาเป็นแบบสมาธิธรรมดา พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระหัตถ์ซ้าย พระพุทธลักษณะได้สัดส่วน ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างและผู้สร้าง แต่สันนิษฐานตามพุทธลักษณะ เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปโบราณ มีอายุยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ย้อนกลับไป เมื่อครั้งที่วัดสร้างเสร็จ พระมหาแจ่ม วรรณวงศ์ ได้เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยพระอาจารย์บุนนาค ซึ่งเป็นรองเจ้าอาวาสสมัยนั้น ได้จัดกองผ้าป่าไปทอดยังวัดเชิงเลน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อเสร็จพิธี คณะผ้าป่าก็ได้เอ่ยปากขอพระพุทธรูป เพื่อจะนำมาเป็นพระประธานในอุโบสถที่วัดเพิ่งสร้างเสร็จ

เจ้าอาวาสวัดเชิงเลนท่านก็ไม่ขัดข้อง ซึ่งคณะผ้าป่าได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษ ฐานที่วัดปราสาทสิทธิ์ เมื่อขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปี 2499 โดยตอนนั้นหลวงพ่อมีองค์ชำรุดที่บริเวณพระอังสะและพระเพลา คณะกรรมการวัดจึงได้ช่วยกันนำไปปฏิสังขรณ์ให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมมากที่สุด เมื่อบูรณะเสร็จแล้ว พระมหาแจ่ม และพระอาจารย์บุนนาค เห็นพ้องต้องกันว่า เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาว ต.ประสาทสิทธิ์ และตำบลใกล้เคียง จึงขนานนามท่านว่า "หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์"

ตั้งแต่นั้นมา ทุกวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 หรือช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นวันที่ได้อัญเชิญหลวงพ่อไตรรัตน์ฯ มาประดิษฐานที่วัดปราสาทสิทธิ์ ชาวบ้านได้ร่วมใจกันจัดประเพณีแห่พระทางน้ำเชิงอนุรักษ์ โดยได้นำองค์จำลองหลวงพ่อไตรรัตน์ฯ ขนาดหน้าตัก 29 นิ้ว ประดิษฐานในขบวนเรือแห่ให้ประชาชนตลอดสองฝั่งคลองดำเนิน สะดวก ระยะทาง 32 กิโลเมตร ได้ตั้งโต๊ะสักการบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล

ที่มาข้อมูลและภาพ :
พระเครื่องตั้มศรีวิชัย.(2554). หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ วัดปราสาทสิทธิ์ จ.ราชบุรี : พระพุทธรูปสำคัญของไทย. [Online]. Available : http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538954706&Ntype=42. [2554 มกราคม 3].
อ่านต่อ >>

หลวงพ่อตามใจ วัดพญาไม้ จ.ราชบุรี

"วัดพญาไม้" ต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นวัดที่มีพุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบไหว้ หลวงพ่อตาม ใจ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองราชบุรี

"หลวงพ่อตามใจ" หรือ "พระพุทธชัยมงคล" เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางสะดุ้งมาร ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น สูง 2 เมตร หน้าตักกว้าง 1.70 เมตร พุทธลักษณะงดงามผุดผ่องมาก โดยเฉพาะพระพักตร์ที่อิ่มเอิบ พระโอษฐ์ที่ให้ความรู้สึกว่าท่านแย้มยิ้มตลอดเวลา หลวงพ่อตามใจ ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหลังเก่า วัดพญาไม้

ส่วนประวัติหลวงพ่อตามใจ ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นแต่เมื่อใด หรืออัญเชิญมาจากที่ไหน แม้แต่ประวัติการสร้างวัดก็ไม่ปรากฏเช่นกัน มีแต่เรื่องเล่าจากคนเก่าแก่ว่า วัดพญาไม้ เดิมมีชื่อว่า วัดพระยาใหม่ เนื่องจากประมาณ พ.ศ.2423 มีชายหนุ่มคนหนึ่งมีถิ่นเดิมอยู่แห่งนี้ ได้ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นถึงพระยา และด้วยความกตัญญูต่อถิ่นเกิด พระยาท่านนั้นก็เลยสร้างวัดนี้ขึ้น แล้วก็ไม่รู้ว่าพระยาท่านนี้ชื่ออะไร และไม่ได้ระบุชื่อวัดไว้เสียด้วย

ชาวบ้านพร้อมใจกันตั้งชื่อว่า "วัดพระยาใหม่" ก่อนจะเพี้ยนมาเป็นวัดพญาไม้ในปัจจุบัน วัดพญาไม้แห่งนี้ พบว่ามีพระพุทธชัยมงคล หรือหลวงพ่อตามใจ ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถ นับตั้งแต่สร้างวัดเป็นต้นมา

พระอธิการอดุลย์ สุธัมโม เจ้าอาวาสวัดพญาไม้ เล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อตามใจ ว่าราวปี พ.ศ.2511 ที่พระครูโอภาสิริรัตน์ เป็นเจ้าอาวาสรูปสุดท้าย วัดพญาไม้ ขาดเจ้าอาวาสดูแลวัดเป็นเวลานาน ทำให้วัดอยู่ในสภาพทรุดโทรม โดยเฉพาะอุโบสถที่ประดิษฐานหลวงพ่อตามใจอายุกว่า 200 ปี กระทั่งปี พ.ศ.2549 คณะสงฆ์จังหวัดราชบุรี ได้แต่งตั้งให้พระอธิการอดุลย์ สุธัมโม มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส

"สภาพวัดตอนนั้นทรุดโทรมอย่างหนัก แทบจะเรียกได้ว่าเป็นวัดร้าง ไม่มีปัจจัยหรือกระทั่งสิ่งใดที่จะนำมาทำนุบำรุงวัด อย่างไรก็ตาม รู้สึกแปลกใจมาก แม้อุโบสถจะเก่าร้าง แต่หลวงพ่อตามใจที่อยู่เบื้องหน้า กลับมีองค์พระที่สุกใส สว่าง งดงาม ผุดผ่องไปด้วยทองเปลวที่ปิดทับ ทั้งที่อยู่ในความมืด อาตมาได้ก้มกราบขอพรทันที" โดยอธิษฐานว่า "ฤดูกาลกฐินที่จะมาถึง หากยังไม่มีผู้ใดมารับเป็นเจ้าภาพ ก็หมายความว่า ความตั้งใจที่จะมาดูแลฟื้นฟูคงไม่สำเร็จเป็นแน่ หากถึงวันนั้นก็คงต้องลาสิกขาบท แต่ถ้ายังพอมีบุญหลงเหลือตามที่ได้ตั้งเจตนาไว้ คงมีผู้หยิบยื่นมาให้ความร่วมมือ ให้งานลุล่วงไปด้วยดี ขอรับใช้พระพุทธศาสนาสืบไปจนชั่วชีวิต"

ปรากฏว่า ภายหลังจากนั้น นายวินิจและนางสำอาง สองสามีภรรยาเข้ามาทำบุญให้ญาติที่ล่วงลับไป โยมทั้งสองได้เห็นถึงสภาพศาลาการเปรียญและอุโบสถที่ทรุดโทรมแทบพังลงมา ก็รับปากว่าจะหาคนมาเป็นเจ้าภาพกฐิน เพื่อบูรณะซ่อมแซมให้ ในที่สุดได้มีผู้ที่เลื่อมใสศรัทธารับเป็นเจ้าภาพ ทำให้วัดพญาไม้ สามารถมีเงินทุนซ่อมแซมศาลาการเปรียญจนสำเร็จลุล่วง ท่ามกลางประชาชนที่แห่แหนเข้ามาร่วมมือสร้างบุญกันล้นหลาม

ความศักดิ์สิทธิ์ในครั้งนั้น ถูกนำไปร่ำลือกันปากต่อปาก ชาวบ้านจึงเรียกขานนามพระพุทธรูปแห่งวัดพญาไม้ ว่า "หลวงพ่อตามใจ" ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงพ่อตามใจ อาทิ เคยมีคนป่วยเป็นอัมพฤกษ์มานานหลายปี เรียกได้ว่าสิ้นหวังเกินจะเยียวยา แต่โชคชะตาได้พาคนผู้นั้นเข้าไปกราบหลวงพ่อตามใจ พร้อมกับอธิษฐานขอพรให้ตนหายเป็นปกติ พอกลับบ้านก็ฝันเห็นคนแก่มาบอกให้รักษาศีล ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วจะหาย พอลองทำตามปรากฏว่า อาการอัม พฤกษ์ก็หายเป็นปกติ

เรื่องราวอัศจรรย์ที่ชาวบ้านกล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อตามใจมีมากมาย ทำให้ชื่อเสียงขององค์หลวงพ่อขจรขจายไปไกล พุทธศาสนิกชนที่มีภูมิลำเนาจากถิ่นต่างๆ ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ล้วนเดินทางมา กราบขอพรอยู่เป็นประจำ

หากพุทธศาสนิกชนที่มีความ ประสงค์จะเดินทางมากราบสักการะหลวงพ่อตามใจ ณ วัดพญาไม้ อยู่ ม.5 ต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี สามารถเดินทางมาตามถนนเพชร เกษม ก่อนเข้าเมืองราชบุรี จะมีถนนแยกก่อนขึ้นทางต่างระดับไปราชบุรีและเพชรบุรี ให้ใช้เส้นทางราบ เลาะไปตามถนนผ่านแยกใต้สะพานต่างระดับ ตรงไปจนผ่านหน้าห้างบิ๊กซีที่อยู่ถนนด้านซ้ายมือ เข้ามาทางด้านข้างตรงไปแค่ 100 เมตร จะถึงริมแม่น้ำแม่กลองเจอทางกลับรถ ให้ย้อนกลับมา ประมาณ 100 เมตร จะแลเห็นซุ้มประตูวัดอยู่ซ้ายมือ ให้ขับมาตามถนนประมาณ 200 เมตรเท่านั้น ก็เห็นทางเข้าวัดอยู่ด้านซ้าย วัดพญาไม้ เปิดให้สาธุชนเข้ามา กราบนมัสการหลวงพ่อตามใจได้ทุกวัน


ที่มาข้อมูลและภาพ :
พระเครื่องตั้มศรีวิชัย.(2554). หลวงพ่อตามใจ วัดพญาไม้ : พระพุทธรูปสำคัญของไทย. [Online]. Available : http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538953368&Ntype=42 .[2554 มกราคม 3].
อ่านต่อ >>

หลวงพ่ออโนทัย วัดจันทาราม จ.ราชบุรี


"หลวงพ่ออโนทัย" เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐาน ณ วัดจันทาราม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านในพื้นที่ อ.บ้านโป่ง เป็นอย่างยิ่ง ความศักดิ์สิทธิ์และปรากฏการณ์ที่สืบสานกันมาช้านาน

วัดจันทาราม หรือแต่เดิมเรียกกันว่า วัดหนองตะแคง ซึ่งชาวบ้านเรียกตามชื่อหมู่บ้าน ปัจจุบันตั้งอยู่ติดถนนเพชรเกษม ม.10 ต.หนองอ้อ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ประวัติการสร้างไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ เพียงแต่มีการเล่าขานสืบต่อกันมาว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2450 ในบริเวณละแวกบ้านหนองตะแคง อยู่ในซอยบ้านบางตาล

ต่อมา พระครูชนัตยาภิรัตน์ เจ้าคณะอำเภอบ้านโป่งในขณะนั้น เห็นว่าวัดอยู่ในซอยลึกไม่สะดวกแก่สาธุชนที่จะเข้าไปบำเพ็ญกุศล ทั้งยังมีเนื้อที่คับแคบ จึงได้หารือ เจ้าอาวาสและชาวบ้าน ต่างก็เห็นชอบที่จะขนย้ายมาสร้างวัดแห่งใหม่ในสถานที่ปัจจุบัน และให้ชื่อว่า "วัดจันทาราม" เมื่อปี พ.ศ.2473

ส่วนพระพุทธรูป "หลวงพ่ออโนทัย" ประวัติความเป็นมานั้นไม่มีการบันทึกวันเวลาอย่างแน่ชัด แต่มีการเล่าสืบต่อกันมา ว่า เดิมที่วัดนางโน อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี (ปัจจุบัน คือ วัดมโนธรรมาราม) ได้มีพระพุทธรูปจำนวน 3 องค์ ได้ปรากฏขึ้นที่บริเวณริมแม่น้ำหน้าวัด และหนึ่งในพระพุทธรูปนั้น ได้มาเข้าฝันชาวบ้านหนองตะแคงว่าต้องการมาประดิษฐานอยู่ที่วัดจันทาราม

จากนั้นพระอาจารย์แดง เหล็กดี เจ้าอาวาสวัดจันทาราม และชาวบ้าน ได้พากันเดินทางไปนิมนต์หลวงพ่ออโนทัย เมื่อไปถึงปรากฏ ชาวบ้านอีกหลายหมู่บ้าน ที่ทราบข่าว ต่างก็มาอัญเชิญหลวงพ่ออโนทัย เพื่อนำไปประดิษฐานยังหมู่บ้านของตนเช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถที่จะยกองค์หลวงพ่อขึ้นจากน้ำได้

พระอาจารย์แดง ได้จุดธูปพร้อมตั้งจิตอธิฐานว่า "ถ้าหากหลวงพ่ออยากไปอยู่ที่วัดจันทารามจริง ดังที่เข้าฝันชาวบ้านก็ขอให้ยกท่านขึ้นได้" และเหมือนปาฏิหาริย์ ชาวบ้านสามารถที่จะยกองค์หลวงพ่อขึ้นมาจากน้ำโดยไม่ยากเย็น จากนั้นจึงนิมนต์พระพุทธรูปดังกล่าวเดินทางกลับวัดโดยใช้แพ ล่องมาตามลำน้ำแม่กลอง และนำมาขึ้นเกวียนที่บริเวณบ้านหลวงสิทธิ์เทพการ และเมื่อเดินทางมาถึงที่บริเวณหน้าวัด ล้อเกวียนที่ใช้ขนส่งพระพุทธรูปเกิดหัก ชาวบ้านเชื่อว่าพระพุทธรูปนี้ต้องการจะประดิษฐานอยู่ที่วัดจันทารามนี้จริงๆ

ลุงสุพจน์ ใจมั่น อายุ 55 ปี ประชาสัมพันธ์วัดจันทาราม เป็นอีกผู้หนึ่งที่ทราบเรื่องเล่าขานของหลวงพ่ออโนทัย ว่า หลวงพ่ออโนทัย เป็นพระพุทธรูปแบบสมัยอยุธยาตอนต้น แต่เดิมองค์หลวงพ่อเป็นเนื้อศิลาแลง ไม่มีใครรู้ว่าหลวงพ่อมีชื่อว่าอะไร ชาวบ้านจึงขนานนามกันว่า "พระเทพนิมิตร" โดยเริ่มแรกชาวบ้านได้ประดิษฐานหลวงพ่อในอุโบสถ (บริเวณเมรุในปัจจุบัน) คู่กับหลวงพ่อขาว ต่อมาได้ย้ายหลวงพ่อ ประดิษฐาน ณ ศาลใต้ต้นตะคร้อด้านหน้าวัด (บริเวณน้ำพุในปัจจุบัน) เพื่อชาวบ้านจะได้กราบไหว้บูชาง่ายขึ้น

แม้จะมีขโมยแอบมาโจรกรรมองค์พระและตู้บริจาคเงินหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถที่จะเอาออกไปจากเขตรั้ววัดได้แม้แต่ครั้งเดียว ในสมัยพระครูพิศาลธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างวิหารหลวงพ่อ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 โดยมีพระเทพนิมิต หลวงพ่อขาว และหลวงพ่อเงิน ประดิษฐานอยู่ภายใน ต่อมา มีซินแสเป็นชาวจีนในร่างทรงของเจ้าพ่อเสือ ได้มาเข้าทรงและเปิดเผยว่าที่จริงแล้วหลวงพ่อพระเทพนิมิตนี้ มีชื่อว่า หลวงพ่ออโนทัย ดังนั้นชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อวิหารดังกล่าวว่า วิหารหลวงพ่ออโนทัย และชาวบ้านหนองตะแคง จึงเรียกชื่อว่า "หลวงพ่ออโนทัย" นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ชาวบ้านเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวง พ่ออโนทัย ที่ปรากฏอยู่หลากหลายเรื่อง ทั้งด้านธุรกิจค้าขาย การเจ็บป่วย การเรียน การสมัครงาน อีกทั้งเรื่องคู่รักคู่ครอง สร้างศรัทธาให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก ต่างมากราบไหว้บนบานอธิษฐานหลวงพ่ออโนทัย ให้สัมฤทธิผลดังที่ใจหมาย

เมื่อได้ผลสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้แล้ว ในส่วนของที่จะนำมาแก้บน นอกจากจะเป็นไข่ต้ม ผลไม้ต่างๆ แล้ว ที่จะขาดเสียมิได้ คือ การฉายหนังกลางแปลงแก้บน เรียกได้ว่าแทบจะทุกคืน จนเป็นที่เคยชินของชาวบ้านหนองตะแคงไปเสียแล้วว่าถ้าคืนไหนไม่ได้ยินเสียง ไม่มีการฉายหนัง คล้ายกับว่าขาดสิ่งใดไปบางประการ

ที่มาข้อมูล
วิษณุ โชคบันดาลสุข. (2552).  หลวงพ่ออโนทัย วัดจันทาราม จ.ราชบุรี : เดินสายไหว้พระพุทธ หนังสือพิมพ์ข่าวสด. [Online]. Available : http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXhNekExTURrMU1nPT0=&sectionid=TURNd053PT0=&day=TWpBd09TMHdPUzB3TlE9PQ==. [2554 มกราคม 3].  
ที่มาภาพ : http://www.thailandholidayclub.com/index.php?topic=1271.90
อ่านต่อ >>

วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554

วัดอมรินทราราม (วัดตาล)




วัดอมรินทราราม ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ต.โคกหม้อ ข้างกรมการทหารช่าง อ.เมือง จ.ราชบุรี สร้างมาตั้งแต่ครั้งไหนไม่มีหลักฐานแน่นอน ทราบจากผู้สูงอายุว่า วัดนี้สร้างก่อนที่เมืองราชบุรีจะย้าย จากฝั่งวัดมหาธาตุวรวิหารมาอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำแม่กลอง คือ กรมการทหารช่างในปัจจุบันนี้

แต่พอจะประมาณได้ว่าเริ่มสร้างวัดนี้ราวปีกุน สัปตศก จุลศกราช 1177 พุทธศักราช 2354 ก่อนสร้างเมืองราชบุรีใหม่เล็กน้อย โดยเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์  (แสงวงศาโรจน์) ต้นตระกูลวงศาโรจน์ สมุหพระกลาโหมในสมัยนั้น เป็นผู้สร้าง โดยเจ้าพระยาท่านนี้ เป็นผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี ท่านที่ 2  ยังมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอมรินทรฤาชัย ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 2  เมื่อสร้างแล้วคงให้ชื่อว่า "วัดตาล" เพราะที่วัดนี้เป็นที่ค้าขายน้ำตาล

ต่อมาในพุทธศักราช 2360 รัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ย้ายเมืองราชบุรีมาตั้งอยู่ ณ บริเวณกรมการทหารช่างในปัจจุบันนี้ วัดนี้จึงอยู่ติดกับตัวเมืองราชบุรีใหม่ทางด้านเหนือน้ำ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ ได้นิมนต์พระคณะธรรมยุตมาอยู่ปกครองวัด คือ ท่านเจ้าคุณพระสมุทรมุนี (หน่าย) มาจากวัดโสมนัสวิหารมาปกครองวัดในตอนปลายรัชกาลที่ 4 ราว พ.ศ.2406-2410

ตามจดหมายเหตุของครูวินัยธรรม (อินท์) เขียนตามคำของพระสมุทรมุนีว่า เดิมวัดนี้เป็นป่ารก เป็นที่อาศัยของภิกษุจรจัด และคฤหัสถ์ผู้ร้าย ผีปีศาจดุร้าย ท่านจึงให้อุปัฎฐากแผ้วถางทำความสะอาด และเอาชื่อของพระยาอมรินทรฤาไชยต่อเป็นชื่อวัดว่า "วัดตาลอมรินทร์" แต่ชาวบ้านยังคงเรียก "วัดตาล"  ต่อมาคำว่า ตาล หายไป ปัจจุบันนี้จึงใช้ชื่อว่า "วัดอมรินทราราม" และเป็นวัดแรกของคณะธรรมยุตจังหวัดราชบุรี

ที่มา : ป้ายเหล็กประชาสัมพันธ์ บริเวณหน้าโบสถ์เก่า วัดอมรินทราราม วันที่ 1 ม.ค.2553
อ่านต่อ >>