วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธรูปเก่าที่วัดเขาวัง


พระพุทธรูปที่เห็นในภาพนี้ เดิมเป็นพระพุทธรูปศิลาแลงที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานอยู่บริเวณอุโบสถร้างเชิงเขาวังติดกับโรงเรียนวัดเขาวัง (แสง ช่วงสุวณิช)  เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อภูเขาลูกนี้ (หมายถึงเขาวังลูกนี้) ถูกเวรคืนเพื่อสร้างพระราชวัง  พระพุทธรูปเหล่านี้ก็ถูกทอดทิ้งให้หักพัง ไม่มีผู้ใดสนใจที่จะบูรณซ่อมแซม ต้นไม้และเถาวัลย์ขึ้นปกคลุม แต่ก็ไม่มีผู้ใดกล้านำเอาไปเพราะกลัวภัยพิบัติ

ต่อมา พ.ศ.2533  พระมหายุ้ย อุปสนฺโต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดเขาวัง ได้เล็งเห็นความสำคัญและความเก่าแก่ของพระพุทธรูป จึงชวนภิกษุและสามเณรไปนำมาและชวนศรัทธาญาติโยมทำการบูรณซ่อมแซมส่วนที่หักพังเสียหายให้สมบูรณ์เหมือนกับของเดิม สิ้นค่าบูรณะซ่อมแซมจำนวนเงิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) และได้ประดิษฐานไว้ที่ศาลาลอย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้ สักการะบูชาอธิษฐาน เป็นศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สืบต่อไป




ศาลาลอย สร้างเมื่อปี พ.ศ.2474
อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประวัติวัดใหญ่อ่างทอง

วัดใหญ่อ่างทอง ตั้งอยู่เลขที่ 96 หมู่ที่ 1 ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 109 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองราชบุรี ประมาณ 6 กิโลเมตร ลักษณะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม รูปวงรี ด้านหน้าวัดมีถนนสายเพชรเกษม ซึ่งเป็นถนนสายหลักวิ่งผ่าน มีอาณาเขตติดต่อ คือ
  • ทิศเหนือ จดถนนสายสุขาภิบาลอ่างทอง-ดอนแร่, บ้านชายทุ่ง หมู่ที่ 1
  • ทิศใต้ จดวัดเขาน้อยและหมู่บ้าน หมู่ที่ 4, 5
  • ทิศตะวันออก จดถนนสายเพชรเกษม
  • ทิศตะวันตก จดหมู่บ้านต้นสัก และหมู่บ้านท่ามะเฟือง

หลวงพ่อโนจา ผู้สร้างวัด
ประมาณปี พ.ศ.2329 หลวงพ่อโนจา พระชาวเชียงใหม่ ได้ออกธุดงค์มาถึง และเห็นว่าพื้นที่นี้เหมาะสมแก่การพักปฏิบัติธรรม และชาวบ้านเริ่มศรัทธา จึงได้มีการเริ่มต้นประกาศตั้งวัดขึ้นไปครั้งแรก ประวัติวัดในเบื้องต้นมีผู้บริจาคเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ 2 งาน และได้รับบริจาคที่ดินตั้งแต่หลวงพ่อโนจา มาจนถึงปัจจุบัน วัดใหญ่อ่างทองมีที่ธรณีสงฆ์รวม 39 ไร่ 47 ตารางวา ซึ่งจัดแบ่งเป็นเขตศาสนสถาน คือ พุทธาวาส และเขตสังฆาวาส และสาธารณสถานสวนหนึ่ง คือ ได้จัดให้มีการจัดตั้งโรงเรียนอันเป็นสถานศึกษาชั้นต้น และมีเขตพื้นที่จัดสรรประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย

อุโบสถหลังเก่า
นามวัดและมูลเหตุ
คำว่า "อ่างทอง" ปัจจุบันเป็นชื่อของตำบลหนึ่งในเขต อ.เมืองราชบุรี  แต่เดิมในอดีตนั้นมีชื่อว่า "ตำบลดอนงิ้ว"  เมื่อก่อนในบริเวณแถบบนี้มีหลายหมู่บ้าน ต่อมาได้รวมเข้าเป็นหมู่บ้านเดียวกันแล้วขนานนามเสียใหม่ว่า "บ้านใหญ่อ่างทอง" โดยพื้นที่นี้มีภูเขาเป็นฉากหลัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เมื่อเข้าฤดูฝนซึ่งมีน้ำหลากมาสู่พื้นที่ราบลุ่มรูปวงรี (เหมือนกับอ่าง) แห่งนี้ แล้วได้นำเอาแร่ธาตุต่างๆ มาด้วย โดยเฉพาะแร่ทองคำ  ซึ่งอดีตชาวบ้านได้เล่าขานว่า สถานที่แห่งนี้มีทองคำเคลื่อนที่ได้ ซึ่งจะไหลมารวมกันอยู่บริเวณหน้าวัด ปัจจุบันเมื่อเดินทางผ่านไปมาบริเวณหน้าวัดจะเห็นน้ำเป็นพื้นสีขาวสะอาด สวยสด เต็มไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ ทั่วทั้งบริเวณ ฉะนั้นจึงเป็นมูลเหตุเกี่ยวกับ ชื่อวัดว่า "วัดใหญ่อ่างทอง"

การสร้างวัดนั้น ไม่ปรากฎหลักฐานในวรรณคดีหรือจารึกต่างๆ มีแต่คำบอกเล่าของผู้คนรุ่นเก่าๆ ซึ่งเป็น "ตำนาน" เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อโนจา ธุดงค์มาพักปฏิบัติธรรมโปรดญาติโยม และชาวบ้านได้เห็นจริยาวัตรอันงดงามจนมีความเลื่อมใสศรัทธา เมื่อย่างเข้าเขตการอยู่จำพรรษา ชาวบ้านจึงนิมนต์หลวงพ่อให้อยู่จำพรรษา ณ ที่แห่งนี้ และได้เริ่มสร้างกุฎิให้หลวงพ่ออยู่จำพรรษา

เพื่อให้พระพุทธศาสนาได้สืบทอดต่อไปในอนาคต และจะได้เป็นรากฐานเสริมสร้างจิตใจมวลมนุษย์ให้มีความสุข หลวงพ่อโนจาจึงได้ดำริจัดตั้งวัดขึ้น โดยใช้ชื่อตามภูมิประเทศว่า "วัดใหญ่อ่างทอง" 

หลวงพ่อโนจา นี้ท่านเป็นชาวเชียงใหม่ และต่อมาท่านได้นำชาวเชียงใหม่ ซึ่งเรียกตนเองว่า "ชาวเวียง" ที่นับถือท่านลงมาตั้งถิ่นฐาน  ณ บริเวณวัดใหญ่อ่างทองนี้อีกเป็นจำนวนมาก

ตามบันทึกทะเบียนวัดของจังหวัดราชบุรีซึ่งจัดทำโดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี ได้บันทึกไว้ว่า วัดใหญ่อ่างทอง ประกาศจัดตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2325 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2385

รายนามเจ้าอาวาส
  1. หลวงพ่อโนจา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2382-2419
  2. หลวงพ่อกบิลปัญญา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2419-2438
  3. เจ้าอธิการหมวดยอด (เป็นเจ้าคณะตำบลด้วย) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2438-2466
  4. พระครูธีรญาณประยุต (เทียน พุทฺธปาโล) (เป็นเจ้าคณะตำบลด้วย) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2466-2496
  5. พระมหาสวสัดิ์  สิริวณฺโณ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496-2522
  6. พระครูธีรญาณประยุต (เชื้อ ธีรปญฺโญ) (เป็นเจ้าคณะตำบลด้วย) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522-2554

พระสีวลีและอุโบสถหลังใหม่

อ่านเพิ่มเติม

ที่มา :

วัดใหญ่อ่างทอง. (2554).แนวคิดทางธรรม : อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูธีรญาณประยุต (เชื้อ ธีรปญฺโญ น.ธ.เอก) .กรุงเทพฯ : สหธรรมิก. แจกจ่ายเมื่อ 6 มีนาคม 2554.
อ่านต่อ >>

วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554

พระมหาเจดีย์สมเด็จฯ


ขณะที่เขียนเรื่อง "พระมหาเจดีย์สมเด็จฯ" อยู่นี้ องค์พระมหาเจดีย์ฯ กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เป็นผู้ดำเนินการสร้างขึ้นในบริเวณวัดฯ โดยมี
  • เจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นประธานอุปถัมภ์
  • เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นประธานโครงการก่อสร้าง

วัตถุประสงค์การสร้าง
เพื่อเป็นปูชนียสถานอันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันตธาตุที่สำคัญ ที่ปรากฏขึ้น ณ วัดหลวงพ่อสดฯ ไว้เป็นที่สักการะบูชา ของเหล่าเทวดาและมนุษย์ ผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศทั่วโลก และเพื่อสืบบวรพระพุทธศาสนาให้เจิญและยั่งยืนต่อไป

งบประมาณการก่อสร้าง 150 ล้านบาท
"พระมหาเจดีย์สมเด็จฯ" เป็นอาคารทรงจตุรมุข 4 ชั้น รูปแบบพระมหาเจดีย์ ออกแบบโดย อาจารย์อนันต์  สวัสดิสวนีย์ อดีตผู้อำนวยการช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร วิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้างคือ รศ.ดร.หรรษา  วัฒนานุกิจ  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคุณวิชา วัฒนานุกิจ จาก บริษัท Center of Standard Engineering จำกัด  ทั้ง 4 ชั้นได้ถูกออแบบการใช้สอยไว้ดังนี้
  • ชั้นล่างสุด  ของพระมหาเจดีย์ฯ เป็นที่ทำงาน และเป็นที่ให้ญาติโยมสาธุชนศึกษาปฏิบัติธรรม สำหรับประกอบพิธีกรรมและประชุมทั่วไป
  • ชั้นที่สอง สำหรับการประชุมอบรมธรรมปฏิบัติ
  • ชั้นที่สาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ รวมทั้งตัวอย่างการปฏิบัติกัมมัฎฐาน
  • ชั้นบนสุด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
เรื่องราคาค่าก่อสร้างนี้ มีการบันทึกเพิ่มเติมในหนังสือ "คู่มือร่วมด้วยช่วยกัน..สร้างพระมหาเจดีย์สมเด็จ" (ดูรายละเอียดหนังสือ)  ซึ่งผู้จัดทำได้รับแจกจ่ายประชาสัมพันธ์เมื่อต้นเดือน ก.ย.2554 ว่าประมาณ 400 ล้านบาท โดยแยกเป็น 3 รายการใหญ่ได้แก่ งานโครงสร้าง 200 ล้านบาท, งานสถาปัตยกรรม 100 ล้านบาท และงานระบบไฟฟ้า/ลิฟท์/ปรับพื้นที่/ถมดินฯลฯ 100 ล้าน และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2559

ทำไมถึงชื่อว่า "พระมหาเจดีย์สมเด็จฯ"
ที่ชื่อว่า พระมหาเจดีย์สมเด็จฯ  ก็เพราะความประจวบเหมาะกับสมเด็จ ผู้เป็นมิ่งมหามงคล 6 ประการคือ
  1. พระมหาเจดีย์นี้จักเป็นปูชนียสถานประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสำคัญ
  2. พระมหาเจดีย์นี้เกิดขึ้นในรัชสมัย สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ
  3. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คู่บารมี ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ

    และพระมหาเจดีย์นี้ จักเกิดขึ้น ณ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของพระราชญาณวิสิฐ (เสริมชัย  ชยมงฺคโล) เจ้าอาวาส ล้วนเป็นสมเด็จพระราชาคณะทั้ง 3 องค์ คือ
  4. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุติธรมหาเถร) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ อดีตกรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นพระอุปัชฌาย์
  5. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว  อุปเสณมหาเถร) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (ในสมัยที่ดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระพรหมคุณาภรณ์)
  6. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง  วรปุญญมหาเถร) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนเหนือเป็นอนุสาวนาจารย์ (ในสมัยที่ดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี)


ติดต่อบริจาคและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ประชาสัมพันธ์วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
โทร.0-3225-3632 ต่อ 220/191, 08-3032-8907 โทรสาร.0-3225-4954
เว็บไซต์ http://www.dhammakaya.org/
อีเมล์ info@dhammakaya.org

ที่มาข้อมูล
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม. (2554). พระมหาเจดีย์สมเด็จฯ. แผ่นพับประชาสัมพันธ์. ได้รับเมื่อ 27 ก.พ.2554.


อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

ทำไม? หลวงพ่อมงคลบุรี และพระศรีนัคร์ ที่วัดมหาธาตุฯ ต้องนั่งหันหลังชนกัน


วัดมหาธาตุ หรือเดิมเรียกว่า "วัดหน้าพระธาตุ" เป็นพระอารามหลวง และเป็นวัดเก่าแก่สำคัญของเมืองราชบุรี ตั้งอยู่เกือบใจกลางเมืองราชบุรี บริเวณเมืองราชบุรีเก่าที่ตั้งอยู่ด้านขวาของแม่น้ำแม่กลอง ภายในวัดมีศาสนสถานที่สำคัญได้แก่ พระปรางค์ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นบนฐานเดิมของศาสนสถานในสมัยทวารวดีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16  และเขมรได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18  จึงได้มีการสร้างประสาทแบบเขมรซ้อนทับ ดังหลักฐานที่ยังคงปรากฏเหลือแนวกำแพงศิลาที่มีทับหลังสลักจากหินทรายสีชมพูเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว  รูปแบบเดียวกับที่พบในศาสนสถานศิลปะบายนในราชอาณาจักรกัมพูชาปัจจุบัน  ภายหลังต่อมาปราสาทที่สร้างขึ้นเนื่องในวัฒนธรรมเขมรคงชำรุดพังลง จึงได้มีการสร้างพระปรางค์องค์ตามรูปแบบที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

นอกเหนือพระปรางค์องค์เก่าแก่แล้ว  ภายในวัดมหาธาตุยังคงมีสิ่งที่น่าสนใจและสร้างความประหลาดใจต่อผู้พบเห็น ภายในวัดบริเวณหน้าพระปรางค์จะมีวิหาร จำนวน 5 หลัง แต่ละหลังจะมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยนั้งหันพระปฤษฎางค์หรือนั่งหันหลังชนกัน  โดยเฉพาะวิหารที่อยู่ตรงด้านหน้าพระปรางค์ พระพุทธรูปสององค์ หรือที่เรียกกันว่าหลวงพ่อมงคลบุรีและพระศรีนัคร์  จะเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นแกนเป็นหินทรายสีแดง มีขนาดใหญ่และมีขนาดเท่ากันทั้งสององค์ ในขณะที่พระพุทธรูปในวิหารหลังอื่นอีก 4 หลัง จะมีขนาดเล็กองค์หนึ่งและใหญ่องค์หนึ่ง

หลวงพ่อมงคลบุรี และพระศรีนัคร์

พระพุทธรูปนั่งหันหลังชนกันเหล่านี้ ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง แต่ด้วยลักษณะของพระพุทธรูปทั้งหมดในวิหารแต่ละหลัง จะมีศิลปะแบบพระพุทธรูปสมัยอยุธยา อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20-22  พระพุทธรูปเหล่านี้คงนำมาจากวัดอื่นๆ  ที่เป็นวัดร้างอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับวัดมหาธาตุ และคงเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา แต่ได้กลายสภาพเป็นวัดร้าง

ในภายหลังเมื่อนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานที่วัดมหาธาตุแล้ว ทำไมถึงต้องประดิษฐานให้พระพุทธรูปสององค์ให้นั่งหันหลังชนกันนั้น ก็ไม่ปรากฏมูลเหตุแน่ชัด อาจจะเป็นความตั้งใจที่ต้องการให้ช่วยปกปักรักษาคุ้มครองบ้านเมืองทั้งสี่ทิศ เนื่องจากช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่บ้านเมืองมีศึกสงครามอยู่บ่อยครั้งก็เป็นได้

นอกจากวัดมหาธาตุที่มีพระนั่งหันหลังชนกันแล้ว ยังเคยปรากฏมีที่วัดบางลี่เจริญธรรม เช่นเดียวกัน พระพุทธรูปด้านหลังพระประธานภายในโบสถ์ แต่เดิมก็นั่งหันหลังทั้ง 3 องค์ เพิ่งมานั่งหันหน้าตามประธาน ในช่วงปี พ.ศ. 2518-2519 นี่เอง

ดูภาพชุดหลวงพ่อมงคลบุรี งานประจำปีวัดมหาธาตุ 2554


ที่มาข้อมูล
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี. (2554). พระนั่งหันหลังชนกันที่วัดมหาธาตุ. ราชบุรีที่คุณยังไม่รู้. นิทรรศการหมุนเวียนในงานกาชาดเที่ยวราชบุุรี ปี 2554.




อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธดำเนินศักดิ์สิทธิ

พระพุทธดำเนินศักดิ์สิทธิ นี้คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลดำเนินสะดวก ได้ดำเนินการจัดสร้างให้เป็นพระพุทธรูปประจำโรงพยาบาลดำเนินสะดวกในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่โรงพยาบาลและเป็นที่พึ่งทางจิตใจ กับเจ้าหน้าที่ ผู้รับบริการ ประชาชน และเพื่อเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่กับชาวพุทธต่อไป

พระพุทธดำเนินศักดิ์สิทธิ สูง 259 เซนติเมตร ประดิษฐานเด่นเป็นสง่า ณ ด้านหน้าตึกอำนวยการของโรงพยาบาลดำเนินสะดวก กำหนดพิธีเททองหล่อเมื่อวันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2554 เวลา 15:19 น. โดยมีนายสุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีเป็นประธานฝ่ายฆราวาส พระธรรมปริยัติเวธี (สุเทพ ผสฺสธมฺโม) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยมีรายนามพระสงฆ์นั่งปรก ดังนี้
  1. พระธรรมปริยัติเวธี (สุเทพ ผสฺสธมฺโม) เจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นประธานในพิธี
  2. พระราชญาณวิสิฐ วิ. (เสริมชัย  ชยมงฺคโล) ป.ธ.6 เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
  3. พระปริยัติกิจโสภณ (โพธิ์ จนฺสาโร-หวิงปัด) เจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก เจ้าอาวาสวัดบัวงาม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
  4. พระครูสมุทรทิวากรคุณ (วีรศักดิ์  ทิวากโร) เจ้าคณะอำเภออัมพวา เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
  5. พระครูฌานวัชราภรณ์ (เฮง จกฺกวโร) เจ้าคณะอำเภอชะอำ เจ้าอาวาสวัดห้วยทรายใต้ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
  6. พระครูสังฆรักษ์อวยพร (อวยพร  ฐิติญาโณ) เจ้าคณะตำบลดอนยายหอม รองเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม
  7. พระครูสิริโพธิรักษ์ (ยวง  อาภัสสโร) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี
  8. พระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (สมโภช  ภทฺทจาโร) เจ้าอาวาสวัดจุฬามณี อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
  9. พระอธิการใจ ฐิตาจาโร เจ้าอาวาสวัดพระยาญาติ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
การรวบรวมอิทธิมวลสารศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ
การจัดสร้างพระพุทธรูปดำเนินศักดิ์สิทธิ คณะกรรมการที่จัดสร้างได้พิถีพิถันเป็นพิเศษ และมีความตั้งใจจะจัดสร้างวัตถุมงคลประกอบ ให้มีความสมบูรณ์แบบทั้งด้านพุทธศิลป์และพระพุทธคุณ จึงได้รวบรวมอิทธิมวลสาร ดังนี้
  1. ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศและคณะกรรมการกราบนมัสการพระสมณศักดิ์และพระเกจิทรงวิทยาคมที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วประเทศ ขอเมตตาจารและอธิฐานจิตลงในแผ่นทอง เงิน ทองแดง รวมทั้งสิ้น 999 แผ่น
  2. ได้รับเมตตาจากพระเกจิอาจารย์มอบอิทธิผงมวลสารศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นสุดยอดของจังหวัด อาทิ ผงปัถมัง ผงมหาราช ผงอิทธิเจ ว่าน 108 เส้นเกศา อีกทั้งดอกไม้ที่บูชาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ของจังหวัดมาเป็นมวลสารสำคัญ ในการจัดสร้างพระผงพุทธดำเนินศักดิ์สิทธิ์
การเช่าบูชา
  • ขนาด 18 นิ้ว สำหรับผู้บริจาค 100,000 บาทขึ้นไป
  • ขนาด 12 นิ้ว สำหรับผู้บริจาค 10,000 บาทขึ้นไป
  • ขนาด 1.5 นิ้ว (หน้ารถ) สำหรับผู้บริจาค 1,000 บาทขึ้นไป
  • แบบชุดพร้อมกล่อง สำหรับผู้บริจาค 599 บาทขึ้นไป
  • ลอยองค์ บริจาค 299 บาทขึ้นไป
  • เหรียญเสมา บริจาค 199 บาทขึ้นไป
  • พระผง บริจาค 99 บาทขึ้นไป
  • พระบรรจุเนื้อดินเผา บรรจุชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์บูชาองค์ละ 99 บาทเพื่อบรรจุบริเวณใต้ฐานพระประธาน
ติดต่อสั่งจองและเช่าบูชาได้ที่ : งานประชาสัมพันธ์ โทร.0-3224-6000-15 ต่อ 201-202 โรงพยาบาลดำเนินสะดวก 146 ม.4 ต.ท่านัด อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี 70130

ที่มาข้อมูล
โรงพยาบาลดำเนินสะดวก. (2554). พระพุทธดำเนินศักดิ์สิทธิ. แผ่นพับประชาสัมพันธ์. ได้รับเมื่อ 27 ก.พ.2554 
อ่านต่อ >>