
บทความนี้ ผู้จัดทำได้คัดลอกมาจากหนังสือ ประวัติศาสตร์เมืองราชบุรี ซึ่งเขียนโดยรองศาสตราจารย์ยนต์ ชุ่มจิต เมื่อปี 2547 โดยได้คัดลอกเรื่องเกี่ยวกับ "หลวงพ่อนวม " อดีตเจ้าอาวาสวัดแจ้งเจริญ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวกะเหรี่ยง จนกระทั่งเกิดประเพณี "ชุมนุมวันปีใหม่ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5" และการเหยียบหลังกะเหรี่ยงมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งท่านได้เขียนไว้ดังนี้

วันที่ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดราชบุรี และเพชรบุรี จะไปทำบุญร่วมกันคือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี โดยจะเดินทางไปยังวัดแจ้งเจริญ ต.จอมประทัด อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี เพื่อสรงน้ำหลวงพ่อนวม (มรณภาพตั้งแต่ปี พ.ศ.2478) ซึ่งชาวกะเหรี่ยงทั้งในอดีตและปัจจุบันให้ความเคาระอย่างยิ่ง จนเกิดเป็นประเพณี "ชุมนุมวันปีใหม่ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5" ของทุกปี
สาเหตุที่ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดราชบุรี และเพชรบุรี ให้ความเคารพหลวงพ่อนวมอย่างสูงตลอดมาจนถึงปัจจุบันนั้น มีประวัติความเป็นมาดังนี้
จากคำบอกเล่าของท่านพระครูศรีธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดแจ้งเจริญและเจ้าคณะอำเภอวัดเพลงในปัจจุบัน มีดังนี้
เมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา พระอธิการนวม ได้ออกจาริกธุดงค์ไปตามป่าชายแดนไทย-พม่า ด้วยประสงค์จะหาความสงบวิเวกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเห็นว่าการที่อยู่วัดนั้น ย่อมมีแต่ความสะดวกสบายทุกประการ แต่ถ้าได้ออกไปตามป่าเขาลำเนาไพรบ้างก็จะเป็นการทดสอบความอดทน และคงต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ด้วยจิตใจที่กล้าแกร่งไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ
ในที่สุด ท่านก็ไปถึงถิ่นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยงโพล่วง ซึ่งสมัยนั้นยังนับถือผีและสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ มีความชำนาญเรื่องไสยศาสตร์ สามารถปล่อยผี ปล่อยคุณ เสกหนัง เสกตะปูเข้าท้องผู้อื่นถึงตายได้ ปกติแล้วคนแปลกหน้าที่ล่วงล้ำเข้าไป มักจะถูกลองของเสมอ หากใครไม่แน่จริงก็จะมีอันตรายถึงตายทุกรายไป

พระภิกษุนวม เข้าไปปักกลดอยู่ในเขตหมู่บ้านกะเหรี่ยง ตั้งจิตภาวนาแผ่กุศลให้ชาวกะเหรี่ยงเรื่อยๆ หัวหน้ากะเหรี่ยงคิดจะปล่อยของให้เข้าตัวพระภิกษุนวม ด้วยวิธีการเอาเนื้อสัตว์ใส่กระบอกไม้ไผ่ แล้วทำพิธีปล่อยคาถาอาคม นำไปฝังใต้ดินจนเน่าเหม็น จากนั้นในยามวิกาลก็ทำพิธีปล่อยของโดยไม่ให้ผู้รับหรือผู้ถูกกระทำรู้ตัว คืนนั้น พระภิกษุนวม ได้เข้าฌานตั้งสมาธิ แผ่กุศลให้ชาวกะเหรี่ยงตลอดคืน ด้วยจิตที่บริสุทธิ์มีสมาธิแน่วแน่และมั่นคง ของที่หัวหน้ากะเหรี่ยงส่งมาจึงไม่สามารถทำอันตรายพระภิกษุนวมได้
เมื่อการปล่อยของครั้งแรกไม่สำเร็จ หัวหน้าจึงคิดหาวิธีที่สูงขึ้นเพื่อคิดจะเอาชนะพระภิกษุนวม โดยให้ลูกบ้านนำหมากพลูไปถวาย ทำทีว่าต้อนรับขับสู้ท่าน แต่หัวหน้ากะเหรี่ยงสั่งให้นำหนังสัตว์ติดตัวไปด้วย เพื่อให้พระภิกษุนวมได้นั่งแทนเสื่อตามธรรมเนียมของชาวกะเหรี่ยง เมื่อพระภิกษุนวมนั่งลงบนหนังสัตว์ก็ทราบด้วยฌานอันแก่กล้าว่า ท่านกำลังถูกเสกหนังสัตว์เข้าท้องอย่างแน่นอน ท่านจึงทำจิตใจให้สงบ พร้อมใช้วิชาอาคมต่อสู้ทันที พอท่านตบเข่าเท่านั้น หนังสัตว์ที่ม้วนเล็กลงก็ขยายใหญ่ขึ้นตามเดิม จากนั้นชาวกะเหรี่ยงก็ส่งหมากพลูให้กับท่าน ท่านรับไว้แล้วกลืนลงท้องทันที เพียงครู่เดียวก็อาเจียนออกมาหมด สิ่งที่อาเจียนออกมามีแต่สิ่งของที่แหลมคม เช่น ตะปู เศษแก้ว เศษโลหะหลายชนิด ท่านล่วงรู้ทันทีว่าถูกกะเหรี่ยงทำอีกแล้ว

กิตติศัพท์ความเก่งกล้าด้านคาถาอาคมทำให้ชาวกะเหรี่ยงอยากจะมาดูตัว ดังนั้น ในวันหนึ่ง ชาวกะเหรี่ยงจึงพร้อมกันมาที่พระภิกษุนวม ปักกลดอยู่ ครั้นเห็นท่านนั่งหลับตาอยู่ในกลดก็คิดว่าท่านกำลังฝึกวิชาอาคม แท้จริงแล้วท่านกำลังเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ต่างจึงพากันนั่งรอดูท่าทีอย่างสงบ จนเด็กๆ ที่พามานั่งรออยู่ด้วยเกิดหิวน้ำ จึงขอน้ำจากพ่อแม่ดื่ม แต่แล้วต่างก็ต้องประหลาดใจ เมื่อทุกกระบอกน้ำไม่มีน้ำเลย สร้างความงุนงงให้กับชาวกะเหรี่ยงอย่างมาก
พระภิกษุนวม ลืมตามองเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น ก็ส่งภาษาใบ้มือชี้ที่ปากของท่านแล้วชี้มือไปที่กระบอกน้ำ พอชาวกะเหรี่ยงส่งกระบอกน้ำที่เด็กๆ กำลังแย่งกันนั้นให้ท่าน ทันทีที่ท่านเอียงปากกระบอกลงในบาตรเท่านั้น ปรากฏว่ามีน้ำไหลออกมา ท่านจึงส่งกระบอกน้ำให้เด็กที่กำลังหิวกระหาย ครั้นเมื่อชาวกะเหรี่ยงยกกระบอกอื่นขึ้นดื่มก็มีน้ำไหลทุกกระบอก จึงรู้ว่ากำลังถูกหลวงพ่อท่านลองวิชา แต่ไม่มีใครสามารถแก้อาคมของหลวงพ่อได้เลย
หลังจากนั้น พระภิกษุนวมได้กลายเป็นผู้เก่งกล้าของชาวกะเหรี่ยง ต่างก็หันมาสนใจและอยากจะฝึกวิชาอาคมจากพระภิกษุนวม แต่ก็ยังไม้กล้าแสดงออกนอกหน้าเพราะกลัวหัวหน้าจะโกรธ ครั้นใกล้เทศกาลเข้าพรรษา พระภิกษุนวมจำต้องกลับวัดแจ้งเจริญ กะเหรี่ยงซึ่งต้องการรู้ว่าท่านอยู่ไหนแน่ จึงสั่งให้ลูกบ้านสะกดรอยตามพระภิกษุนวมไปห่างๆ ไม่ให้รู้ตัว คอยนำอาหารถวายท่านตลอดการเดินธุดงค์กลับถึงวัด ลูกบ้านจึงกลับไปรายงานหัวหน้าว่า ท่านอยู่ที่วัดแจ้งเจริญ

เช้าวันต่อมา ชาวกะเหรี่ยงสามคนก็จะก่อไฟหุงข้าวด้วยวิธีเดิม คือใช้มีดถากหน้าแข้งให้ไม้ฟืนปลิวออกมา แต่แล้วก็ต้องตกใจมากเมื่อมองไม่เห็นช้างสามเชือกของตน จึงรีบไปกราบหลวงพ่อบอกว่า ช้างของตนหายไปเสียแล้ว พระภิกษุได้ตักเตือนเรื่องใช้วิชาอาคมถากเสาวัด แล้วบอกให้ไปหากะลาที่บริเวณหลังวัดแล้วลองเปิดดู กะเหรี่ยงทั้งสามต้องประหลาดใจมาก เมื่อเห็นช้างของตนอยู่ในกะลา จึงรู้ว่าช้างสามเชือกของตนถูกท่านทำพิธีครอบไว้ ด้วยอภินิหารครั้งนี้ ทำให้หัวหน้ากะเหรี่ยงยอมรับนับถือพระภิกษุนวม ชื่อเสียงของท่านได้แพร่หลายไปในหมู่ชาวกะเหรี่ยวโพล่วง คำสรรพนามที่เรียกว่า "มัน" ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงรุ่นเก่ายังใช้เรียกท่านอยู่
ด้วยมุขปาฐะที่สืบทอดเรื่องราวของพระภิกษุนวม หรือพระอธิการนวม จากปากต่อปาก ทำให้ชื่อเสียงของท่านแพร่หลาย เดิมชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อเรืองผีมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต ถ้าทำให้ผีพึงพอใจ ผีก็ย่อมบันดาลความสุขให้แก่ชีวิตได้ แต่ถ้าทำให้ผีไม่พึงพอใจ ผีก็จะลงโทษด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ทำให้ผู้คนเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดโลกระบาด อากาศวิบปริต สัตว์เลี้ยงล้มตาย พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ที่สำคัญทำให้พวกเขาล้มตายได้

แม้เมื่อหลวงพ่อมรณภาพแล้ว ชาวกะเหรี่ยงก็ยังไปนมัสการสรงน้ำปิดทองรูปหล่อเหมือนจริงของท่านทุกปี พร้อมกันนั้นก็ได้ให้ความเคารพนับถือเจ้าอาวาสวัดแจ้งเจริญทุกรูปต่อมาว่าเป็น "หลวงพ่อกะเหรี่ยง" เหมือนกัน จนถึงท่านพระครูศรีธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน
หลวงพ่อนวม มรณภาพมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2487 แต่เพราะท่านเป็นภูมิปัญญาในพระพุทธศาสนากับภูมิปัญญาท้องถิ่นกะเหรี่ยง จึงผลักดันให้ความเชื่อเรื่องผีสางดั้งเดิมค่อยๆ คลี่คลาย แล้วบูรณาการทางวัฒนธรรม (Integration) กับพระพุทธศาสนาด้วยพลังศรัทธายิ่งสืบเนื่องจนถึงวันนี้ จึงยังเห็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงโพล่วงหอบลูงจูงหลานและอุตส่าห์อุ้มทอง แม้จะถึงวัยชรามากแล้ว มาพักค้างคืนที่โรงเรียน โรงทึม ศาลา กุฏิหอฉัน มีจำนวนถึงปีละร่วม 4,000 คน คณะกรรมการวัดต้องต้อนรับเลี้ยงดูหุงข้าวมื้อละ 3 กระสอบ ถึงวันละ 9 กระสอบที่เดียว (ข้อมูลสถิติของวัดปี พ.ศ.2538)
การที่ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงยังมาชุมนุมวันปีใหม่ที่วัดแจ้งเจริญทุกปี ถือเป็นการทำตาม "คำสั่งบรรพบุรุษ" ชาวกะเหรี่ยงถือว่า การทำตามสิ่งที่บรรพบุรุษได้สั่งสอนไว้ ถือเป็นเรื่องอันศักดิ์สิทธิ์เป็นโลกทัศน์ที่สำคัญของชาวกะเหรี่ยง การปฏิบัติตามจึงเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว แม้จะอยู่กันคนละหมู่บ้าน แต่ถือว่ามีสายเลือดทางวัฒนธรรมโพล่วงร่วมกัน การได้มาร่วมกิจกรรมและพิธีกรรมเช่นทุกปี เป็นการสร้างจุดร่วมของความเป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ลูกหลานได้เห็นถึงที่มาของสังคม "พุทธแบบกะเหรี่ยง" รู้จักโลกทัศน์แบบเก่าของชาติพันธุ์ตนเอง และมองเห็นวิถีทางที่จะช่วยให้สังคมกะเหรี่ยงและระบบธรรมชาติอยู่รอดในสังคมปัจจุบัน

ที่มา :
ข้อมูล : ยนต์ ชุ่มจิต. (2547). ประวัติศาสตร์เมืองราชบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์. (หน้า 154-158)
ภาพ
-http://www.nectec.or.th/oncc/province/pictures/c16/ratch-205-1.jpg
-http://c.static.fsanook.com/shopping/uploaded/large/2009/11/07/66/Btskq1257581607-1.jpg
-http://gotoknow.org/file/thaipoet/WPM-07.jpg
-http://gotoknow.org/file/thaipoet/WPM-06.jpg
-http://www.sema.go.th/files/Content/Social/k4/0010/Apaktho/images/bhj.jpg
-http://c.static.fsanook.com/shopping/uploaded/large/2009/09/16/65/VAgeP1253069875-1.jpg
ข้อมูล : ยนต์ ชุ่มจิต. (2547). ประวัติศาสตร์เมืองราชบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์. (หน้า 154-158)
ภาพ
-http://www.nectec.or.th/oncc/province/pictures/c16/ratch-205-1.jpg
-http://c.static.fsanook.com/shopping/uploaded/large/2009/11/07/66/Btskq1257581607-1.jpg
-http://gotoknow.org/file/thaipoet/WPM-07.jpg
-http://gotoknow.org/file/thaipoet/WPM-06.jpg
-http://www.sema.go.th/files/Content/Social/k4/0010/Apaktho/images/bhj.jpg
-http://c.static.fsanook.com/shopping/uploaded/large/2009/09/16/65/VAgeP1253069875-1.jpg