วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หลวงพ่อแก่นจันทน์


หลวงพ่อแก่นจันทน์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในมณฑปวัดช่องลม ริมถนนวรเดชในท้องที่ตำบลหน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยอยู่ห่างจากที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ไปทางด้านทิศตะวันตกเยงเหนือประมาณ 200 เมตร มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางอุ้มบาตร สูงรวมฐาน 5 ศอกเศษ (ประมาณ 2.50 เมตรเศษ) ตามพุทธลักษณะที่ปรากฎโดยรวม แม้ว่าจะมีลักษณะเป็นฝีมือช่างแบบอยุธยาตอนปลาย-ตอนต้นรัตนโกสินทร์ (ราวพุทธศตวรรษที่ 24) แต่ลักษณะของส่วนพระพักตร์และพระเศียร (เป็นต้นว่า พระพักตร์ที่ค่อนข้างกลมใหญ่ พระขนงที่หนายาวโค้งติดต่อกันคล้ายรูปปีกกา พระเนตรที่โปนใหญ่ พระนาสิกที่งุ้ม พระโอษฐ์ที่หนา และขมวดพระเกศาที่เป็นตุ่มกลมขนาดใหญ่ ฯลฯ) ก็มีลักษณะเป็นฝีมือช่างแบบทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 11-15) จึงมีความเป็นไปได้ที่พระพุทธรูปองค์นี้ คงมีการสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยทวารวดี แล้วมามีการซ่อมแปลงให้มีพุทธลักษณะ ดังเช่นที่ปรากฏในปัจจุบัน ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ถึงรัตนโกสินทร์
ประวัติการสร้างและความเป็นมาของหลวงพ่อแก่นจันทน์ นี้ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่า ผู้ใดสร้างหรือสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ปรากฏเฉพาะหลักฐานการบอกเล่าว่า ผู้สร้างได้เดินทางไปป่าที่จังหวัดกาญจนบุรี แล้วได้พบเสือ จึงหนีขึ้นต้นจันทน์ พร้อมกับบนบานศาลกล่าวไว้ว่า หากรอดชีวิตจากการถูกเสือทำร้ายจะสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้แก่นจันทน์ถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อรอดชีวิตกลับมาจึงสร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อแก่นจันทน์ นำไปประดิษฐานไว้ที่บ้านแก่งหลวง จ.กาญจนบุรี (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญขนบุรี) ตามที่ได้บนบานศาลกล่าวไว้
ต่อมาได้เกิดอุทกภัยขึ้นที่บ้านแก่งหลวง ทำให้พระพุทธรูปลอยตามลำน้ำแม่กลองมาจนถึงวัดช่องลม จึงได้มีผู้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ แล้วภายหลังจึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ภายในพระมณฑปที่สร้างขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้
ในช่วงที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และได้เดินทางมาพำนักที่จังหวัดราชบุรี ท่านได้ริเริ่มให้มีการจัดงานนมัสการหลวงพ่อแก่นจันทน์ขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันเพ็ญกลางเดือน 12 ซึ่งจะมีการแห่หลวงพ่อแก่นจันทน์ไปตามลำน้ำแม่กลองจากวัดช่องลมไปจนถึงบ้านคุ้งกระถิน แล้ววกกลับขึ้นเหนือไปยังไปจนถึงบ้านโคกหม้อในท้องที่ อ.เมืองราชบุรี
แต่เมื่อสิ้นสมัยของท่าน งานนมัสการประจำปีนี้ก็ซบเซา และยกเลิกไปในที่สุด
จนมาถึงประมาณปลายปี พ.ศ.2500 นายวิชัย มณีรัตน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองราชบุรีขณะนั้น จึงได้ฟื้นฟูงานนมัสการประจำปีข้างต้นมาอีกครั้ง โดยเปลี่ยนแปลงเวลาจากเดิมในช่วงวันเพ็ญกลางเดือน 12 มาเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์กลางเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับงานประจำปีนมัสการศาลเจ้าพ่อหลักเมือง พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการแห่จากทางน้ำมาเป็นทางบกจากวัดช่องลมไปประดิษฐานที่สนามหน้ากรมการทหารช่าง (ค่ายภาณุรังษี) ริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันออก เพื่อให้ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาปสาทะได้สรงน้ำปิดทองแทน อันเป็นประเพณีที่ยังมีการยึดถือสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้
ที่มา : มโน กลีบทอง.(2544). พิพิธภัณฑสถาน ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์. หน้า 209.

ไม่มีความคิดเห็น: