เหรียญหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง" สร้างปี พ.ศ.2461 |
ท่านเป็นคนจีนเชื้อสายจีนแคระ บ้านอยู่ห้วยลึก อำเภอบ้านโป่ง ตามประวัติว่าท่านบรรพชาเป็นสามเณร ตั้งแต่อายุได้ 12 ปี เพื่อทดแทนคุณให้กับบิดาซึ่งถึงแก่กรรม และบวชเรื่อยมาโดยไม่ต้องลาสิกขา ครั้นเมื่ออายุครบ 20 ปี จึงได้อุปสมบท โดยมีพระอธิการโพธิ์เป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่ออุปสมบทแล้วก็ปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ขยันทำวัตรสวดมนต์ มั่นคงอยู่ในศีล กิตติคุณของท่านที่ปรากฏเล่าลือ คือ ท่านเป็นพระทรงวิทยาคุณหลายด้าน และคุณธรรมอันวิเศษที่หลวงพ่อมอบให้กับประชาชนโดยทั่วไป
ในราวปี พ.ศ. 2458 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ได้เสด็จประทับแรมที่วัดบ้านโป่ง และกล่าวถึงวัดตอนหนึ่งว่า "วัดบ้านโป่งที่เสด็จประทับแรมนี้มีพระสงฆ์ 19 รูป เป็นที่อยู่ของพระสังฆกิจบริหาร เจ้าคณะแขวง มีต้นไม้ใหญ่ๆ เป็นรมณียสถาน ทั้งการรักษาความสะอาดเรียบร้อยดี"
ท่านพระครูสังฆกิจบริหาร (ฟัก) ได้เป็นกำลังสำคัญของการพระศาสนาตลอดมากระทั่งถึงราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2461 จึงได้มรณภาพ สิริอายุได้ 60 ปี พรรษาที่ 40
ตามประวัติคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อฟักท่านมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ อย่างเช่น มีคนมาลักเอาขนุนไปหนึ่งลูก หลวงพ่อถามศิษย์ว่าใครมาเอาไปให้ไปบอกมันมาจะได้ยกให้ไม่เป็นบาป "ถ้ามาลักอีกมีหวังตกแน่" ต่อมามีผู้มาลักขนุนอีกผลปรากฏว่าร่วงหล่นมาตามวาจาของท่าน
และในสมัยก่อนที่ต้องเดินทางโดยรถไฟ เวลาหลวงพ่อจะมาขึ้นรถไฟ ถ้าหลวงพ่อยังมาไม่ถึง รถไฟจะไปไม่ได้ต้องรอให้ท่านขึ้นก่อน จึงจะออกรถได้ ถึงกับมีคนเล่าลือกันว่าหลวงพ่อฟักหยุดรถไฟได้ และความเมตตากรุณาของหลวงพ่อ ก็คือ หลวงพ่อจะทำยาอายุวัฒนะ ดองแจกจ่ายชาวบ้านเสมอโดยหลวงพ่อจะทำใส่โอ่งทิ้งไว้ ชาวบ้านก็มาตักยาไปกินกันเสมอ เป็นยาบำรุงกำลังและอายุวัฒนะขนาดวิเศษที่ขึ้นชื่อมาก
"เหรียญหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง" นี้ สร้างในปี พ.ศ.2461 จากการสอบถามประวัติแล้วได้ความว่า สร้างขึ้นภายหลังจากหลวงพ่อมรณภาพแล้ว โดยลูกศิษย์ของหลวงพ่อชื่อ "พระครูชื่น" เป็นผู้จัดสร้างเพื่อแจกศิษยานุศิษย์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ จำนวนประมาณ 1,000 เหรียญ มีด้วยกัน 2 พิมพ์ ได้รับความนิยมเหมือนกันทั้งสองพิมพ์
พระครูชื่นภายหลังได้รับสมณศักดิ์เป็น "พระครูโยคาภิรมย์" ตำแหน่งเจ้าคณะแขวง เมื่อจัดสร้างวัตถุมงคลเหรียญเสร็จแล้ว ได้นำไปถวายพระอุปัชฌาย์เข็ม วัดม่วง แผ่เมตตาจิตปลุกเสก ฉะนั้นวัตถุมงคลเหรียญพระครูสังฆกิจบริหาร (ฟัก) จึงน่าจะเป็นรูปแบบตัวอย่างของเหรียญในย่านจังหวัดราชบุรี ที่สร้างขึ้นหลังจากปี พ.ศ.2461
ที่มาข้อมูล
ที่มาข้อมูล
- แทน ท่าพระจันทร์. (2553). พระครูสังฆกิจบริหาร (ฟัก) : พระเครื่องตั้มศรีวิชัย.[Online]. Available :http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538686716&Ntype=40. [2554 มกราคม 13 ].
- ภาพ : TRAPRACHAN : http://www.thaprachan.com/shop_detail.php?shop_id=1013&product_id=159811&c=1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น