วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

การสักยันต์ในราชบุรี : อาจารย์เอื้อ เหล็งหวาน

สำนักสักยันต์อาจารย์เอื้อ เหล็งหวาน
อาจารย์เอื้อ เหล็งหวาน เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2504 อยู่บ้านเลขที่่ 100 หมู่ 3 (หน้าวัดหนองอ้อ) ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี  เป็นบุตรของนายวุ่น และนางเนียม เหล็งหวาน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาจำนวน 4 คน อาจารย์เอื้อเป็นบุตรคนสุดท้อง ครอบครัวของอาจารย์ฯ ประกอบอาชีพทำไร่อ้อยที่ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาม จ.ราชบุรี

สำนักอาจารย์เอื้อตั้งอยู่ใกล้บริเวณวัดหนองอ้อ หมู่ 3 ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี  ตัวอาคารมีลักษณะเป็นคูหาเปิดโล่งชั้นเดียว ประมาณ 100 ตารางเมตร สร้างอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวโดยมีเนื้อที่บริเวณบ้านประมาณ 3 งาน

อาจารย์เอื้อได้สนใจการสักยันต์มาตั้งแต่เด็ก อาจารย์เล่าว่าสมัยเด็กพ่อของอาจารย์เป็นหมอแผนโบราณหรือหมอหมู่บ้านจึงมีตำราหรือคัมภีร์ พวกนี้อยู่มาก  แต่พ่อของอาจารย์เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก พี่ชายจึงเป็นผู้ครอบครองตำราทั้งหมด และช่วงนั้นพี่ชายอาจารย์ก็ไม่สนับสนุนอาจารย์ในด้านนี้ เนื่องจากเห็นว่าอาจารย์ยังมีอายุน้อยเกินไป หากศึกษาอาจทำให้เสียสติได้ แต่ด้วยความรักและความชื่นชอบในศาสตร์ด้านนี้ พอเริ่มอ่านหนังสือ ออกจึงแอบศึกษาเอาจากตำราที่มีอยู่

ต่อมาเมื่อมีอายุได้ 14 ปี พี่ชายเห็นว่าอาจารย์มีความสนใจด้านไสยศาสตร์อย่างจริงจัง จึงนำไปฝากเรียนวิชากับ ก๋งเผ่ง ซึ่งเป็นชาวไทย เชื้อสายจีนประกอบอาชีพตีมีด อยู่ที่ ต.บ้านสิงห์

ในครั้งแรกที่อาจารย์เข้าไปหาก๋งเผ่งนั้น จะเข้าไปในลักษณะเป็นลูกมือช่วยงานใส่ฟืน ปั๊มลม ตีมีด เพราะยังไม่กล้าพูดแสดงเจตจำนงค์ที่ชัดเจนว่า "จะมาขอเรียนวิชา" เมื่อมีความสนิทสนมคุ้นเคย ประกอบกับก๋งเผ่งได้สอบถามถึงจุดประสงค์ที่อาจารย์เอื้อแวะเวียนมาบ่อยๆ อาจารย์เอื้อจีงกล้าพูด "ขอวิชากับก๋งเผ่ง"

โดยบทเรียนบทแรกที่ก๋งเผ่งให้อาจารย์เอื้อมีเพียงตำราหนึ่งเล่มพร้อมกับคำสั่ง "ให้ไปศึกษาคาถาปฐมัง" ซึ่งเปรียบเสมือนวิชาขั้นพื้นฐานของการเริ่มต้นที่จะเรียนด้านไสยศาสตร์  อาจารย์เอื้อใช้เวลาศึกษาเพียง 3 เดือน ซึ่งนับได้ว่าใช้เวลาน้อยมากเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ซึ่งหากศึกษาต้องใช้เวลาถึง 1 ปี ขึ้นไป ทั้งนี้ก็เป็นเพราะอาจารย์มีพื่นฐานจากการศึกษาด้วยตนเอง มาบ้างแล้ว

ก๋งเผ่งได้ถ่ายทอดวิชาไสยศาสตร์มนต์ดำให้อาจารย์ โดยให้เลือกเพียงหนึ่งในสามวิชา คือ "ควายธนู วัวธนู เสือ" ในตอนแรกนั้น อาจารย์อยากเลือกศึกษาวิชาเสือแต่ก็ยังไม่แน่ใจ จึงไปปรึกษาคนเฒ่าคนแก่ได้รับคำแนะนำว่าให้เรียน "ควายธนู"  แต่อาจารย์ก็ยังเชื่อไม่สนิทใจจึง ได้ไปปรึกษาหลวงตาทอง วัดหนองอ้อ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือตั้งแต่ที่อาจารย์เป็นเด็กวัด หลวงตาทองก็แนะนำให้ศึกษาวิชาควายธนู เนื่องจาก หากมีควายกับเสือปะทะกันควายจะขวิดเสือ  ส่วนวัวนั้นจะขาอ่อนเวลาเผชิญหน้ากับเสือ ดังนั้นอาจารย์จึงตัดสินใจเลือกเรียนวิชาควายธนู จึงกลับ ไปบอกก๋งเผ่งและก่อนที่จะศึกษาก๋งเผ่ง ก็ให้อาจารย์สาบานว่าจะใช้วิชาก็ต่อเมื่อ

"ทนไม่ไหวจนร้องไห้น้ำตากลายเป็นสายเลือด"

ห้ามใช้ทำร้ายคนอื่นเพียงแค่โมโหหรือโกรธเล็กๆน้อยๆ เพราะไม่เช่นนั้นของจะเข้าตัวเองจะทำร้ายตัวเอง "จนถึงปัจจุบันอาจารย์ก็ยังไม่เคยใช้กับใคร"

ต่อมาเมื่ออายุได้ 16 ปี ได้ยินชื่อเสียงการสักยันต์ของหลวงพ่อเปิ่น แห่งวัดบางพระ จังหวัดนครปฐม จึงไปสักยันต์ที่วัดดังกล่าวโดยใน ครั้งแรกนั้นลูกศิษย์ขอหลวงพ่อเปิ่นได้สักยันต์แปดทิศให้กับอาจารย์ ซึ่งนับว่าเป็นรอยสักรอยแรกของอาจารย์ เมื่ออาจารย์เข้าไปที่วัดหลายครั้ง ทั้งในฐานะผู้รับการสักและเป็นลูกมือของศิษย์หลวงพ่อเปิ่น จนเวลาผ่านไปประมาณ 2 เดือน อาจารย์ก็ได้เป็นลูกมือให้กับหลวงพ่อเปิ่น และมีอยู่ ครั้งหนึ่งที่หลวงพ่อเปิ่นสักให้กับนายตำรวจท่านหนึ่ง อาจารย์ก็ได้ไปช่วยจับหนังให้ตึงระหว่างการสัก พอสักเสร็จอาจารย์ก็ขอให้หลวงพ่อเปิ่นสักลายเสือเผ่นที่บริเวณหน้าอกให้ รวมเวลาที่ใช้ศึกษาวิชากับหลวงพ่อเปิ่นที่วัดบางพระนั้น นานกว่า 10 ปี

ซึ่งการศึกษาที่วัดบางพระนี้เป็นลักษณะ ไปๆ กลับๆ ระหว่างที่วัดกับบ้านที่ราชบุรี ช่วงนี้เองที่อาจารย์เริ่มแอบสักยันต์ให้กับเพื่อนรุ่นน้องที่สนิทสนมกัน โดยสักลายเสือแต่ไม่ค่อยสวยงาม เท่าใดนัก สาเหตุที่เลือกสักลายเสือเป็นลายแรกเพราะมีความชอบลายเสือเป็นการส่วนตัว ส่วนอุปกรณ์การสักนั้นอาจารย์บอกว่าซื้อหมึกจีนมาจากตลาด และเข็มอาจารย์ทำเองโดยใช้สแตนเลสตันมาผ่าแล้วฝนปลายด้วยตะไบและนำกระดาษทรายขัดจนปลายแหลมเท่าเข็มเย็บผ้า ขนาดเข็ม ของอาจารย์ก็ทำในขนาดที่ถนัดมือ แบบพิมพ์ลายสักอาจารย์ก็ใช้ปากกาเขียนบนกระดาษซ้ำไปซ้ำมาแล้วก็เอามาแปะกดทับผิวเพื่อเกิดรอย ปากกาบนหน้าอก

ในขณะเดียวกันมีเสียงล่ำลือว่า หลวงปู่หนู แห่งวัดทุ่งแหลม จ.ราชบุรี สักลายหนุมานได้สวยงามและศักดิ์สิทธิ์มาก จึงขอสมัครตัวเป็น ลูกศิษย์โดยหลวงตาทอง วัดหนองอ้อ เป็นคนฝากฝังกับหลวงปู่หนูให้เพื่อเรียนรู้วิชาโดยเฉพาะการสักหนุมานสะบัดธงและการปลุกเสกตะกรุดโทน โดยใช้เวลาเพียง 1 วันเพราะมีพื้นฐานทางอาคมอยู่แล้วเพียงแต่ไปขอคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้คาถาเท่านั้น

ต่อมาได้ไปเรียนวิชาทำกุมาร,รักยมและคาถาเมตตามหานิยมจาก หลวงพ่อขวัญ วัดโพธิ์ดก ต.เขาพระเอก อ.เมือง จ.ราชบุรี

ต่อจากนั้นอาจารย์ก็เดินทางไปทำงานกับพี่สาวที่ ต.โขนงพระ อ.เขาพระเอก จ.นครราชสีมา ประมาณ 2-3 ปี จนได้รู้จักกับ นายจิตศิษย์ ของพ่อใหญ่ (ฆราวาสธรรม ถือศีลนุ่งขาวห่มขาว) ซึ่งอาจารย์ก็ได้เรียนรู้วิชาเมตตามหานิยมเพิ่มเติม

เมื่ออายุครบบวช (20ปี) อาจารย์ได้บวชพระที่วัดหนองอ้อ อ.โพธาราม ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้าน ช่วงนี้เองที่อาจารย์ได้เรียนรู้วิชาด้านการ ปลุกเสกวัตถุมงคล เช่น สายสิญจน์ เสื้อลงยันต์ ผ้ายันต์ ปลัดขิก กับ หลวงพ่อสายหยุด วัดสะกรังเจริญธรรม จ.สุพรรณบุรี และรับสักยันต์บ้างให้กับคนรู้จัก บวชเรียนอยู่นาน 4  ปี ก็สึกออกมาช่วยงานทางบ้าน จนได้แต่งงานอยู่กินกับภรรยาและมีลูกสาว 1 คน

แต่ในที่สุดก็พบว่าไปด้วย กันไม่ได้ จึงแยกทางกัน อาจารย์ก็กลับมาบวชอีกครั้งที่วัดหนองอ้อ ในครั้งนี้เองอาจารย์ได้รับสักยันต์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และเริ่มมีชื่อเสียงใน ละแวกใกล้เคียง แต่เนื่องจาก วัดมีกิจต้องปฏิบัติเป็นอันมากประกอบกับอาจารย์คิดว่าการสักยันต์ไม่ใช่กิจของสงฆ์  ทำให้ตัดสินใจสึกออกมาเปิด สำนักรับสักยันต์โดยเฉพาะ รวมเวลาบวชเรียนในครั้งที่ 2 นี้ นานถึง 10 ปี

และอาจารย์คนสุดท้ายของอาจารย์เอื้อ ที่สอนการเขียนเลขยันต์และการสักยันต์ให้จนหมดคือ อาจารย์เฉลิมฯ  ซึ่งเป็นศิษย์หลวงพ่อแทน ที่มีชื่อเสียงเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา อาจารย์เฉลิมฯ ได้ถ่ายทอดวิชาทั้งหมดให้กับอาจารย์เอื้อจนหมด ทั้งผูกและทั้งแก้ จากนั้นอาจารย์เอื้อก็ไม่ เรียนวิชาจากใครอีกเลย



สักยันต์ ของขึ้น อาจารย์เอื้อ จ ราชบุรี
ที่มา : http://vdo.palungjit.com/video/146973/สักยันต์-ของขึ้น-อาจารย์เอื้อ-จ-ราชบุรี
สำนักอาจารย์เอื้อ ได้เปิดรับสักยันต์มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน
โทร.08-2458-6281 (เว้นวันพุธ)


ที่มาข้อมูลและภาพ
IGETWEB.(2552). ประวัติสำนักสักยันต์อาจารย์เอื้อ เหล็งหวาน.[Online]. Available : http://www.arjanuea.com/index.php. [2554 มกราคม 21 ].

ไม่มีความคิดเห็น: