วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิคในพื้นที่ จ.ราชบุรีและ จ.ใกล้เคียง

มนุษย์ได้แบ่งศาสนาคริสต์ให้เป็นนิกายต่างๆ ซึ่งแปรไปตามพื้นที่,วัฒนธรรม และความคิดของตน นิกายที่สำคัญมี 3 นิกาย ได้แก่ นิกายโรมันคาทอลิค นิกายออร์โธด็อกซ์ และนิกายโปเตสแตนต์ สำหรับการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค ในพื้นที่ จ.ราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียงนี้ ผมได้ไปอ่านพบในเว็บไซต์สังฆมณฑลราชบุรี จัดทำโดยสำนักมิสซังคาทอลิคเขตราชบุรี เขียนไว้ได้ละเอียดและน่าสนใจมาก และผู้ที่ศึกษาสามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน เลยได้คัดลอกมาไว้ในบล็อกราชบุรีศึกษา นี้เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่ต่อไป 

(รวบรวมจากหนังสือ อนุสรณ์สุวรรณสมโภชคณะซาเลเซียนแห่งประเทศไทย และหนังสืออนุสรณ์ อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก)

สมัยบุกเบิก โดยคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสและคณะสงฆ์พื้นเมืองกรุงเทพ

คริสตชนกลุ่มแรกที่ให้กำเนิดสังฆมณฑลราชบุรี คือ กลุ่มบางนกแขวก ซึ่งเป็นคริสตชนที่อพยพมาจากวัดกาลหว่าร์ กรุงเทพฯ  จากหลักฐานปรากฏว่า ฯพณฯ อัลบรังด์ ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ มาเยี่ยมคริสตชนในแถบนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1837 (พ.ศ.2380) ต่อมาในปี ค.ศ. 1843 (พ.ศ.2386) ฯพณฯ ปัลเลอกัวร์ ก็มาเยี่ยมคริสตชนในแบบนี้เช่นกัน  รวมทั้งได้ทำการเยี่ยมเยียนคริสตชนที่แยกย้ายกันไปตั้งภูมิลำเนาตามลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จนจรดจังหวัดกาญจนบุรีด้วย

บางนกแขวกซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของการแพร่ธรรมนี้ ได้เริ่มสร้างวัดหลังแรกขึ้นในราวปี ค.ศ. 1850 (พ.ศ.2393)  แต่ยังไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำ พระสงฆ์ยังคงต้องเดินทางไปมาจากกรุงเทพฯ จนกระทั่งในราวปี ค.ศ. 1862 (พ.ศ.2405)  คุณพ่อลาบาแดล จึงมาอยู่ประจำเป็นองค์แรก

จุดที่สองที่คริสตศาสนาเจริญมาก คือ ดอนกระเบื้อง ที่นั่นมีคริสตชนอพยพไปอยู่กันมาก มีพระสงฆ์เดินทางไปเยี่ยมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1844 (พ.ศ.2387)  และได้เริ่มสร้างวัดชั่วคราวขึ้นในปี ค.ศ. 1856 (พ.ศ.2399)แต่ก็ยังไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำเช่นกัน จนถึงปี ค.ศ. 1862 (พ.ศ.2405) จึงมีคุณพ่อ ยอแซฟ มาอยู่ประจำ

ในปี ค.ศ. 1864 (พ.ศ.2407)  สมภารปาน ได้กลับใจและรับศีลล้างบาปที่วัดบางนกแขวก ท่านได้ให้กำเนิดวัดเพลง ซึ่งค่อย ๆ เจริญขึ้นเป็นลำดับในกาลต่อมา

จากจุดใหญ่ทั้งสองแห่งนี้ คือ บางนกแขวก และดอนกระเบื้อง บรรดาพระสงฆ์ก็แยกย้ายกันไปติดตามดูแลคริสตชนที่กระจัดกระจายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ จากบางนกแขวกก็ไปสู่แม่กลองซึ่งปรากฏว่าตั้งแต่ปี ค.ค. 1868 (พ.ศ.2411)  ก็มีวัดอยู่แล้ว ที่เพชรบุรีก็มีวัดถวายแด่พระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า สร้างในราวปี ค.ศ. 1863 (พ.ศ.2406)  ต่อจากนั้นก็ขึ้นไปราชบุรี ท่าหว้า ท่าม่วง ในปี ค.ศ. 1869 (พ.ศ.2412)  มีการสร้างวัดที่ท่าหว้าเพื่อถวายแด่แม่พระองค์อุปถัมภ์ จากดอนกระเบื้องพระสงฆ์ก็ติดตามคริสตชนขึ้นไปทางเหนือ เช่น หนองปลาดุก ทุ่งน้อย และบริเวณรอบ ๆ

วัดบางนกแขวก
ที่มาของภาพ
http://www.panoramio.com/photo/40721542
เมื่อมีพระสงฆ์อยู่ประจำเช่นนี้ คริสตชนก็ยิ่งเจริญขึ้น ส่วนที่ที่เจริญเร็วที่สุด คือ บางนกแขวก ในปี ค.ศ.1869 (พ.ศ.2412)  ต้องขยายวัดที่สร้างใหม่เพราะสัตบุรุษมีถึง 2,000 คนแล้ว และในปี ค.ศ. 1875  (พ.ศ.2418)  สามเณราลัยแห่งมิสซังกรุงเทพก็ได้ย้ายมาอยู่ที่บางนกแขวกอีกด้วย  ทางดอนกระเบื้องเองก็ต้องสร้างวัดใหม่เช่นกัน ส่วนทางแม่กลองคริสตชนยังมีไม่มากนัก แต่ในปี ค.ศ. 1875 (พ.ศ.2418) ก็ได้สร้างวัดถวายแด่พระนาม อันศักดิ์สิทธิ์ของแม่พระ ณ ฝั่งตรงข้ามวัดนักบุญยาโกเบในปัจจุบัน ขณะนั้นมีจำนวนคริสตชนประมาณ 30 คนเท่านั้น

ทางเพชรบุรี พระสงฆ์ไปมาได้ค่อยทั่วถึง คริสตชนค่อย ๆ อพยพโยกย้ายไปหมด ส่วนที่ท่าหว้าคริสตชนก็เจริญขึ้นเป็นลำดับ และกิจการของวัดก็ขยายไปยังตำบลต่าง ๆ ที่ใกล้เคียง ในปี ค.ศ. 1876 (พ.ศ.2419)  ได้สร้างโรงสวดขึ้นที่สำรอง ดังนั้น ทั้งสองฟากแม่น้ำแม่กลองจึงมีคริสตชนกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ตั้งแต่แม่กลองจนถึงกาญจนบุรี ทางวัดเพลงก็เจริญขึ้นเรื่อย ๆ จนในปี ค.ศ. 1879 (พ.ศ.2422)  คุณพ่อเปตี ได้ไปประจำและสร้างวัดใหม่ที่นั่น

กิจการศาสนาในระยะนี้เจริญรุ่งเรืองขึ้นและเป็นปึกแผ่นมั่นคง ต่างวัดต่างวางโครงการสร้างวัดถาวรต่อไป ที่บางนกแขวก คุณพ่อเปาโล ซัลมอน ได้เริ่มสร้างวัดใหม่ในปี ค.ศ. 1890 (พ.ศ.2433) โดยใช้เวลาสร้างถึง 6 ปี กระทำพิธีเสกเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1896 (พ.ศ.2439)  และยังได้สร้างโรงเรียนหลังแรกขึ้นด้วย ทางแม่กลองก็มีการขยายวัดใหม่และถวายแด่นักบุญยาโกเบในปี ค.ศ. 1898 (พ.ศ.2441)  ส่วนวัดเพลงและวัดดอนกระเบื้องก็ได้สร้างวัดใหม่ในเวลาต่อมา โดยที่วัดเพลงสร้างเสร็จก่อนในปี ค.ศ. 1903 (พ.ศ.2446) ส่วนวัดดอนกระเบื้องนั้นสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1904 (พ.ศ.2447) 

 ระยะนี้คริสตชนทางกาญจนบุรีก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ โดยโยกย้ายอพยพมาจากท่าหว้าและที่สำรอง ดังนั้นจึงได้สร้างวัดขึ้นที่ วังขนายในปี ค.ศ. 1895 (พ.ศ.2438)  ระยะเดียวกันนี้เอง ที่ดอนมดตะนอยก็มีคนลาวกลุ่มหนึ่งเริ่มสนใจใน คริสตศาสนา และกลับใจรับศีลล้างบาปครั้งแรกประมาณ 80 คนที่วัดบางนกแขวก คุณพ่อ เบเนดิกโต ปู่ จึงไปประจำและสร้างวัดให้ ต่อมาคริสตชนได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องสร้างวัดใหม่อีกในปี ค.ศ. 1901 (พ.ศ.2444)

พระเป็นเจ้าทรงอวยพรความเหนื่อยยากของบรรดาธรรมทูตของพระองค์ ซึ่งแม้จะมีเพียงไม่กี่องค์ แต่ก็สามารถทำงานกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ติดตามแกะของพระองค์ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

ท่าม่วงกลับเป็นจุดสำคัญขึ้นมาอีกจุดหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1918 (พ.ศ.2461)  ได้มีพิธีเสกวัดใหม่ถวายแด่แม่พระมหาทุกข์เจ็ดประการ เวลานั้นมีคริสตชนกว่า 300 คน และมีพระสงฆ์อยู่ประจำมา 3 ปีแล้ว ทางด้านหนองปลาดุกและทุ่งน้อยคริสตชนได้ค่อย ๆ อพยพโยกย้ายไปที่อื่น หลายครอบครัวไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บางตาลและได้ให้กำเนิดวัดบางตาลจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้โดยอาศัยความช่วยเหลือของคุณหลวงสิทธิ์ เทพการ ก็ได้สร้างวัดใหม่ขึ้นในปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ.2455)

ทางบ้านโป่งได้เจริญขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีคริสตชนจากวัดต่าง ๆ เป็นต้นจาก วัดดอนกระเบื้องที่อพยพไปอยู่มากขึ้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1918 (พ.ศ.2461)  คุณพ่อริชาร์ด จากวัดดอนกระเบื้องต้องเดินทางไปเยี่ยมเป็นประจำและได้สร้างวัดแห่งแรกขึ้นในปี ค.ศ. 1921 (พ.ศ.2464)  ต่อมายังได้สร้างโรงเรียนขึ้นด้วย จนที่สุดบ้านโป่งกลับกลายเป็นแหล่งที่พระศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว

จำนวนคริสตชนเพิ่มขึ้น แต่จำนวนพระสงฆ์มีน้อย พระสังฆราชแห่งมิสซังกรุงเทพฯ จึงดำริติดต่อหาธรรมทูตจากต่างประเทศมาช่วยดำเนินงาน ที่สุดคณะนักบวชซาเลเซียนก็ได้รับเชิญให้เข้ามาแบ่งเบาภาระดูแลคริสตชนในแถบลุ่มแม่น้ำแม่กลองนี้แทน ซึ่งขณะนั้นมีคริสตชนอยู่แล้วประมาณ 6,000 คน แบ่งตามจุดใหญ่ ๆ ดังนี้ คือ บางนกแขวก วัดเพลง ดอนมดตะนอย แม่กลอง ประมาณ 4,000 คน และที่ดอนกระเบื้อง บางตาล บ้านโป่ง ท่าหว้า ท่าม่วงอีกราว 2,000 คน

สมัยคณะนักบวชซาเลเซียนดำเนินงาน

นักบุญยอห์น บอสโก
ผู้ตั้งคณะซาเลเซียน
ค.ศ. 1815-1888
ที่มาของภาพ
http://www.blogger.com/goog_2141140513
74-saints/1131-stjohnbosco
พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ได้ดำรงตำแหน่งพระสังฆราช ประมุขของมิสซังกรุงเทพฯ เมื่อปี ค.ศ. 1909 (พ.ศ.2452) ท่านได้พยายามแพร่ธรรมไปทั่วหัวเมืองในความดูแลของท่าน ท่านได้เชิญคณะนักบวชชาย – หญิง มาทำงานในประเทศไทยหลายคณะ เช่น คณะเซนต์คาเบรียล คณะภคินีอูร์ซูลิน คณะภคินีลับคาร์เมไลท์ ฯลฯ

ในปี ค.ศ. 1925 (พ.ศ.2468)  เป็นปีแห่งยูบีลี พระสังฆราชแปรร์รอส ได้เสนอต่อกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ ขอแบ่งมิสซังกรุงเทพฯ ออกและมอบมิสซังส่วนหนึ่งให้แก่คณะนักบวชที่จะเข้ามาทำการแพร่ธรรม เมื่อได้รับอนุญาตจากกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อแล้ว ท่านได้ติดต่อกับคณะซาเลเซียนซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่กรุงตุริน ประเทศอิตาลี ซึ่งสมัยนั้นคุณพ่อรีนัลดี เป็นอัคราธิการ ให้มาแพร่ธรรมในประเทศไทยและจะมอบมิสซังแห่งหนึ่งให้อยู่ในการปกครองของคณะ ด้วย ท่านอัคราธิการได้ส่งคุณพ่อ รีกัลโดเน รองอัคราธิการ ท่านมัทธีอาส ซึ่งดูแลแคว้นอัสสัมที่ประเทศอินเดีย และคุณพ่อกานาเซอี เจ้าคณะแขวงซาเลเซียนในประเทศจีน มาติดต่อกับพระสังฆราชแปร์รอสและมาดูสถานที่ที่จะมอบให้ทำงาน ที่สุดก็ได้ตกลงรับมอบมิสซังและทำงานแพร่ธรรมตามคำขอของพระสังฆราชแปร์รอส

คุณพ่อทั้งสามเดินทางไปเมืองมาเก๊าในประเทศจีน เพื่อแบ่งนักบวชซาเลเซียนจากเมืองนั้นมาช่วยทำงานในเมืองไทย เพราะเวลานั้นยังมีนักบวชอยู่เป็นจำนวนน้อย ไม่สามารถส่งมาจากยุโรปได้ คุณพ่อรีกัลโดเน ได้แต่งตั้งคุณพ่อกาเยตาโน ปาซอตตี เป็นหัวหน้าคณะนักบวชซาเลเซียนเพื่อเข้ามาทำงานแพร่ธรรมในเมืองไทย อีกทั้งยังได้ส่งสามเณรยวง กาแซตตาและสามเณรยอร์ช ไบนอตตี ให้เดินทางล่วงหน้าเพื่อมาเตรียมการก่อนด้วย

วันที่ 15 ตุลาคม 1927 (พ.ศ.2470)  คณะนักบวชซาเลเซียนได้ออกเดินทางจากเมืองมาเก๊าประเทศจีน มาทำงานแพร่ธรรมในเมืองไทย โดยมีคุณพ่อกาเยตาโน ปาซอตตี คุณพ่ออันโตนีโอ มาร์แตง และเณรอีก 16 คน โดยการนำของคุณพ่อรีกัลโดเน พระสังฆราชแปร์รอสได้กำหนดสถานที่ให้คณะซาเลเซียนปกครอง คือ ตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรีลงไปจรดเขตแดนมาเลเซีย ซึ่งมีทั้งหมด 19 จังหวัด และท่านได้กำหนดเอาวัดบางนกแขวกเป็นศูนย์กลาง เพราะที่นี่เป็นวัดใหญ่และมีสัตบุรุษมาก คณะเดินทางได้แวะพักที่ฮ่องกงเป็นเวลา 1 วัน แล้วเดินทางต่อมาจนถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 25 ตุลาคม 1927(พ.ศ.2470) พระสังฆราชแปร์รอสและคุณพ่อโชแรง เหรัญญิกมิสซังกรุงเทพฯ ให้การต้อนรับอย่างดี

วันที่ 26 ตุลาคม 1927 (พ.ศ.2470) คณะได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยทางเรือ แล่นผ่านมาตามลำน้ำแม่กลองขึ้นมาถึงวัดบางนกแขวก คุณพ่อดือรัง เจ้าอาวาสวัดบางนกแขวก คุณพ่อนิโกเลา ปลัดวัด คุณพ่อยวง กาแซตตาและครูเณรใบนอตตี มาคอยต้อนรับ

งานสำคัญของคณะซาเลเซียนในเวลานั้นคือ เรียนและอ่านเขียนหนังสือภาษาไทย คุณพ่อดือรัง และคุณพ่อนิโกเลา ยังคงอยู่ประจำที่วัดบางนกแขวกต่อไป เพื่อช่วยสอนภาษาไทยและแนะนำให้รู้จักขนบธรรมเนียบประเพณีของไทย ตลอดจนวิธีในการปกครองดูแลคนไทย ฯลฯ ทางวัดได้จ้างครูเฮ็ง วรศิลป์ จากวัดเพลง ซึ่งเป็นเณรเก่าที่รู้ภาษาลาตินและภาษาฝรั่งเศสเป็นอย่างดี มาช่วยเป็นครูสอนภาษาไทยแก่บรรดาพระสงฆ์และสามเณรซาเลเซียนรุ่นแรกที่มาอยู่บางนกแขวกด้วย

วันที่ 17 ธันวาคม 1927 (พ.ศ.2470) พระสงฆฆ์อีก 4 องค์ และบราเดอร์ 2 คน ได้เดินทางจากประเทศอิตาลีมาถึงวัดบางนกแขวก เพื่อทำการแพร่ธรรมร่วมกับคณะที่มาถึงก่อนหน้านี้แล้ว

วันที่ 2 มิถุนายน 1928 (พ.ศ.2471) พระสังฆราชแปร์รอส ได้มาประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่ 2 องค์ ของคณะซาเลเซียนที่วัดบางนกแขวก เณร 2 คนนี้ได้สำเร็จการศึกษาจากประเทศจีนและมาทำงานแพร่ธรรมในเมืองไทย ซึ่งก็คือ คุณพ่อแตร์ปิน และคุณพ่อ สตากูล

วันที่ 6 สิงหาคม 1928 (พ.ศ.2471)  พระได้ยกพระสงฆ์หนุ่มซาเลเซียนชาวอาร์เยนตินไป คือ คุณพ่อเดวินเซนซีซึ่งได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้เพียงแค่ 8 เดือน คือ เข้ามาตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 1927 (พ.ศ.2470)  พระสังฆราชแปร์รอสได้มาถวายมิสซาและทำพิธีฝังศพ ซึ่งศพของคุณพ่อถูกฝังไว้ในวัดบางนกแขวกนั้นเอง

วันที่ 11 ธันวาคม 1928 (พ.ศ.2471)  พระสงฆ์อีก 2 องค์ พร้อมกับสามเณรอีก 15 คน และบราเดอร์ 3 คน ได้มาถึงบางนกแขวกเพื่อทำงานแพร่ธรรมในประเทศไทย

พระสังฆราชมารี
โยเซฟ เรอเน แปร์รอส
ที่มาของภาพ
http://www.blogger.com/goog_578231693

story%20the%20past/
biography/
mgr_rene_perros.html
วันที่ 1 มกราคม 1929 (พ.ศ.2472) พระสังฆราชแปร์รอส ซึ่งประจำอยู่ที่กรุเทพฯ ได้มอบมิสซังราชบุรีให้แก่คณะซาเลเซียนโดยสิ้นเชิงตามโครงการของกระทรวงเผย แพร่พระศาสนา พร้อมกันนี้พระคุณเจ้าและคณะของท่านยังได้มอบทรัพย์สินและอุปกรณ์ที่สร้าง ไว้และที่มีอยู่ในขณะนั้นให้แก่ซาเลเซียนทั้งหมดอีกด้วย นับเป็นความเสียสละและน้ำใจอันกว้างขวางโดยแท้ เพราะพระเป็นเจ้าเท่านั้นที่ทรงรู้ดีว่าทรัพย์สินทั้งหมดนั้นมีมูลค่ามากมาย สักเพียงใด บรรดาท่านผู้ให้แบบอย่างอันน่าประทับใจเหล่านั้นที่สมควรจะกล่าวในที่นี้ก็ คือ คุณพ่อริชาร์ด, คุณพ่อดือรัง, คุณพ่อเบเนเด็ตโต, คุณพ่อตีมอเทว, คุณพ่อยาโกเบ, คุณพ่อเคลเมนเต, คุณพ่อเอดูอาร์โด และคุณพ่อนิโกเลา เป็นต้น ซึ่งได้สละผลงานอันเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตน มอบแก่ซาเลเซียนตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าด้วยความยินดี โดยหวังว่าซาเลเซียนจะได้ทำงานแทนสืบต่อจากพวกท่านให้เกิดผลดียิ่ง ๆ ขึ้นในอนาคต

ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 1929 (พ.ศ.2472) พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 โดยผ่านทางกระทรวงการเผยแพร่พระศาสนาก็ได้สถาปนามิสซังราชบุรีแยกออกจากมิส ซังกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ พร้อมกับได้ประกาศแต่งตั้งคุณพ่อกาเยตาโน ปาซอตตี ขึ้นปกครองเป็นการชั่วคราว ซึ่งคุณพ่อเองได้เคยทำงานอภิบาลสัตบุรุษที่ประเทศจีนมาแล้วถึง 10 ปี บัดนี้ได้มาปกครองสัตบุรุษมากมายและรับผิดชอบงานต่าง ๆ ของมิสซังโดยใช้จิตตารมณ์และวิธีของคุณพ่อบอสโกอย่างเดียวกันนั้นเอง เพื่อให้งานทุกอย่างเจริญก้าวหน้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เวลานั้นมิสซังราชบุรี ซึ่งนับแต่ราชบุรี กาญจนบุรี แล้วลงไปจนสุดแดนภาคใต้ มี 19 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่ได้ 118,000 ตารางกิโลเมตร พร้อมด้วยพลเมืองทั้งหมดประมาณ 2,500,000 คน ซึ่งประกอบด้วยชนเชื้อชาติต่าง ๆ เช่น ไทย จีน เขมร ญวน มลายู เงาะ และชาวป่าอีกบางเผ่า แต่ถ้าดูจำนวนที่เป็นคาทอลิกแล้ว จะเห็นว่ายังมีอยู่น้อยมาก นั่นคือ มีเพียงราว 6,600 คนเท่านั้น ซึ่งถ้าจำแนกออกแล้ว จะเห็นว่าเขตบางนกแขวกนั้น มีคริสตชนอยู่ 2,500 คน เขตวัดเพลงมี 700 คน เขตแม่กลองก็มีไม่กี่สิบคน ส่วนคริสตชนในเขตดอนมดตะนอย ดอนกระเบื้อง บ้านโป่ง ท่าหว้า ท่าม่วง และบางตาล รวมกันแล้วก็ประมาณ 2,000 คน

วันที่ 14 มกราคม 1930 (พ.ศ.2473) มีพระสงฆ์ 1 องค์ พร้อมกับเณร 10 คนและบราเดอร์อีก 4 คน ได้เดินทางจากประเทศอิตาลีมาถึงวัดบางนกแขวก

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1930 (พ.ศ.2473)  เริ่มตั้งบ้านเณรเล็กพื้นเมืองขึ้นที่บางนกแขวก เริ่มด้วยเณร 2 คน โดยใช้บ้านริมแม่น้ำหน้าวัด ซึ่งทางวัดได้ซื้อมาจากกำนัล ฮั่วใช้ ชัยเจริญ มาเป็นบ้านเณร โดยใช้เป็นห้องเรียนและห้องนอน แต่มารับอาหารที่บ้านพ่อเจ้าวัด มีคุณพ่อแตร์ปิน และครูเณรการ์โล กาแซตตา เป็นผู้ดูแล ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 1930 (พ.ศ.2473) ก็มีเณรมาเพิ่มอีก 6 คน

ในปีนี้ ทางโรงเรียนได้เริ่มเปิดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นครั้งแรก ซึ่งแต่ก่อนมีเรียนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เท่านั้น

ปี ค.ศ. 1931 (พ.ศ.2474)  คณะซิสเตอร์ธิดาแม่พระ ได้เข้ามาทำงานในมิสซังราชบุรี และตั้งศูนย์กลางอยู่ที่วัดบางนกแขวก รับหน้าที่ดูแลอบรมให้การศึกษาแก่เด็กนักเรียนหญิงทั้งในโรงเรียนประชาบาลฝ่ายประถมและโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ฝ่ายมัธยม นอกนั้นยังรับหน้าที่ดูแลเด็กกำพร้า ช่วยรักษาพยาบาลคนป่วย ต่อมาในปี ค.ศ. 1937 (พ.ศ.2480) จึงได้ย้ายสำนักงานไปตั้งที่โรงเรียนนารีวุฒิ บ้านโป่ง แต่ก็ยังคงมีซิสเตอร์อยู่ประจำ ทำงานช่วยทางวัดและโรงเรียนต่อไป

วันที่ 13 พฤศจิกายน 1931 (พ.ศ.2474) นักบวชคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ชุดแรก จำนวน 6 รูป ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย โดยมีคุณพ่อ โยเซฟ เอร์เรโร เป็นผู้นำมาจากอิตาลี และจะให้ไปประจำอยู่ที่บ้านซิสเตอร์ซาเลเซียนที่จัดเตรียมแล้วที่วัดบางนกแขวก ซึ่งซิสเตอร์เหล่านี้จะเป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานอันมั่นคงแห่งความเจริญให้แก่กิจการคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ต่อ ๆ ไป

วันที่ 17 มกราคม 1932 (พ.ศ.2475) พระสังฆราชแปร์รอส ได้มาประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่ 10 องค์ ที่วัดบางนกแขวก และมีพระสงฆ์องค์หนึ่งคือ คุณพ่อ ซาวีโอ มนตรี สมัครทำงานในมิสซังราชบุรี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดวัดบางนกแขวก 1 ปี แล้วไปเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่กลองในปีต่อมา

วันที่ 1 กันยายน 1933 (พ.ศ.2476)  ทางโรงเรียนได้รับอนุญาตการขอตั้งเป็นโรงเรียนราษฏร์ ชื่อว่า “โรงเรียนดรุณานุเคราะห์” ซึ่งรับเด็กมัธยมชาย – หญิง ต่อมาวันที่ 1 กรกฏาคม 1933 (พ.ศ.2476)  เณรที่เข้ามาทำงานชุดแรก ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์จากพระสังฆราชแปร์รอสที่วัดเพลง จำนวน 6 องค์ คือ คุณพ่ออัลแบร์ตี คุณพ่อไบนอตตี คุณพ่อกาแซตตา คุณพ่อบอเอตตี คุณพ่อการ์นีนี และคุณพ่อรูแซตดู ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการแพร่ธรรมต่อไป

วันที่ 6 มีนาคม 1933 (พ.ศ.2476)  เริ่มซ่อมแซมวัดบางนกแขวกท่านด้านซ้ายมือ เพราะกำแพงและพื้นวัดแตก มีการทรุดตัว นายช่างจากกรุงเทพฯ มาทำงาน เถ้าแก่หงส์ และคนงานต่างช่วยกันอย่างแข็งขัน การซ่อมแล้วเสร็จในวันที่ 1 กันยายน 1933 (พ.ศ.2476) ก่อนการฉลองวัดพอดี

วันที่ 31 ธันวาคม 1933 (พ.ศ.2476)  มีพิธีเปิดกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกที่บางนกแขวก มีลูกเสีอจากกรุงเทพฯ บางตาล บ้านโป่ง วัดเพลง วัดโคกดอนมดตะนอยและที่อื่น ๆ มาร่วมกันมากมาย

วันที่ 1 เมษายน 1934 (พ.ศ.2477)  โอกาสฉลองปัสกา พระสันตะปาปา ปีโอที่ 11 ประกาศแต่งตั้งบุญราศี ยวงบอสโก ขึ้นเป็นนักบุญ และในวันที่ 24 พฤษภาคม 1934 (พ.ศ.2477) พระสันตะปาปา ปีโอที่ 11 โดยผ่านทางกระทรวงเผยแพร่พระศาสนาได้แต่งตั้ง คุณพ่อ กาเยตาโน ปาซอตตี เป็นสังฆรักษ์ปกครองมิสซังราชบุรี

วันที่ 14 ตุลาคม 1934 (พ.ศ.2477)  มีงานฉลองใหญ่ที่บางนกแขวกโอกาสฉลองนักบุญยวงบอสโก และฉลองท่านกาเยตาโน ปาซอตตี เป็นสังฆรักษ์ของราชบุรีด้วย

วันที่ 24 พฤษภาคม 1934 (พ.ศ.2477)  มีพิธีสวมเสื้อหล่อของเณรไทย 8 คน สามเณรชุดนี้มีอยู่ 2 คนที่ได้บรรลุขั้นเป็นพระสงฆ์ นั่นก็คือ คุณพ่อสนิท ลุลิตานนท์ และคุณพ่อสนม วีระกานนท์

วันที่ 24 ธันวาคม 1934 (พ.ศ.2477)  เรือเดินทะเลลำใหญ่สองลำ ได้บรรทุกของและนำเณรของ มิสซังกรุงเทพฯ ออกจากบ้านเณรบางช้าง เดินทางไปสู่บ้านเณรใหม่ที่ศรีราชา ส่วนบ้านเณรเก่าที่บางช้างนั้น ทางมิสซังราชบุรีก็ได้ซื้อต่อจากมิสซังกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นบ้านเณรของมิสซังราชบุรีต่อไปโดยให้ชื่อใหม่ว่า “บ้านเณรบางนกแขวก” และเรียกชื่อตำบลที่ตั้งนี้ว่า “ตำบลบางยี่รงค์”

วันที่ 24 เมษายน 1936 (พ.ศ.2479)  ชีลับคณะกาปูชิน ตามคำเชื้อเชิญของมิสซังราชบุรี ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย คณะนี้ได้มาพักเรียนภาษาไทยอยู่ที่บางนกแขวกเป็นเวลา 6 เดือน และได้ไปตั้งอารามอยู่ที่บ้านโป่ง โดยหลวงสิทธิ์ เทพการ เป็นผู้จัดสร้างอารามให้

โบสถ์คริสต์วัดพระหฤทัยวัดเพลง
ที่มาของภาพ
http://www.lower-central-provinces1.org/menu3.php
วันที่ 30 พฤษภาคม 1937 (พ.ศ.2480) โอกาสฉลองพระคริสตกายา พระสังฆรักษ์ กาเยตาโน ปาซอตตี ได้ประกอบพิธีสวมเสื้อหล่อให้แก่เณร 7 คน ของบ้านเณรพื้นเมือง ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้ที่ได้บรรลุถึงศักดิ์สงฆ์ 3 องค์ด้วยกัน คือ คุณพ่อไกรศรี ทัพศาสตร์ คุณพ่อสมกิจ นันทวิสุทธิ์และคุณพ่อชุนเอ็ง ก๊กเครือ

ในปี 1937 (พ.ศ.2480) ท่านสังฆรักษ์ ปาซอตรี ได้ตั้งคณะภคินีสงเคราะห์ (ผู้รับใช้ดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์) ขึ้น โดยการริเริ่มของคุณพ่อการ์โล เดลลาตอร์เร และโดยการอบรมของคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ ซึ่งได้เริ่มกิจการนี้ในปี 1938 (พ.ศ.2481) คณะนี้ได้ตั้งสำนักอยู่ที่วัดบางนกแขวกจนถึงปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ.2498)  จึงได้ย้ายศูนย์กลางของคณะไปตั้งอยู่ที่โรงเรียนนารีวิทยา ราชบุรี

ปี ค.ศ. 1938 (พ.ศ.2481)  คุณพ่อยวง กาแซตตา ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะแขวงซาเลเซียน ในปีนี้สภาพการณ์ไม่สู้ดีนัก เพราะทางรัฐบาลออกกฎหมายให้ล้มเลิกโรงเรียนประชาบาลแผนกประชาชนจัดตั้ง ให้มีเฉพาะโรงเรียนราษฏร์ ดังนั้น โรงเรียนประชาบาลบางนกแขวกจึงต้องล้มเลิกไป นักเรียนชั้นประถมต้องไปเข้าโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลก่อนแล้วเมื่อเรียนจบแล้วจึงจะขอย้ายมาเข้าโรงเรียนราษฏร์ได้ ซึ่งกว่าจะขอได้ก็ต้องใช้เวลานาน เด็ก ๆ ไม่ค่อยได้เรียนคำสอน คุณพ่อจึงต้องพยายามรวบรวมเด็ก ๆ มาเรียนคำสอนเพื่อจะได้ไม่เสียความเชื่อความศรัทธาไปเสียก่อน

วันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1939 (พ.ศ.2482) พระสังฆราชแปร์รอส ได้ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่ที่วัดบางนกแขวก คือคุณพ่อเปโตร คาเร็ตโต (ภายหลังได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชของสังฆมณฑลราชบุรี) คุณพ่อฟรีเยรีโอ คุณพ่อเกรสปี คุณพ่อมาเน คุณพ่ออันเยโล คุณพ่อเปตี คุณพ่ออุลลีอานา และคุณพ่อวิตาลี ซึ่งพระสงฆ์เหล่านี้จะเป็นกำลังที่สำคัญของมิสซังต่อไป

วันที่ 28 กันยายน 1940 (พ.ศ.2483)  พระสังฆราชแปร์รอส ได้มาประกอบพิธีโปรดศีลบวชสงฆ์ใหม่ คือ คุณพ่อออตตาลีนา คุณพ่อปองกิโอเน คุณพ่อโปรเวรา คุณพ่อวันแดร์ฟอร์ต และบวชสังฆานุกรอีก 3 คน และในวันที่ 9 ธันวาคม 1940 (พ.ศ.2483)  พระสังฆราชแปร์รอส ก็ได้โปรดศีลบวชให้แก่สงฆ์ใหม่ คือ คุณพ่ออันเดรโอนี คุณพ่อบุสตี และคุณพ่อฟอลีอัตตี ที่วัดบ้านโป่ง ที่ต้องโปรดศีลบวชเร็วกว่ากำหนดก็เพราะสถานการณ์บ้านเมืองเริ่มตึงเครียด พระสงฆ์ต่างชาติถูกจำกัดที่อยู่หรือไม่ก็ถูกสั่งให้ออกนอกประเทศเพราะกรณีพิพาทอินโดจีน ทำให้การศึกษาและศาสนาไม่สู้ราบรื่นนัก

วันที่ 24 มิถุนายน 1941 (พ.ศ.2484)  เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของสังฆมณฑลราชบุรี คือ ในวัดน้อยของอารามคาร์แมล ถนนคอนแวนต์ กรุงเทพฯ ได้มีพิธีอภิเษก ท่านกาเยตาโน ปาซอตตีเป็นสังฆราชของสังฆมณฑลราชบุรี โดยพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส เป็นผู้ประกอบพิธีอภิเษกอย่างเงียบ ๆ เพราะเหตุการณ์ยังคับขันอยู่

ในปีนี้เอง เณรซาเลเซียนได้ย้ายไปเรียนเทวศาสตร์ที่ประเทศจีน เพราะเหตุการณ์ปั่นป่วน เณรต่างชาติไม่ปลอดภัยในการศึกษา เณรพื้นเมืองจากวัดบางนกแขวกจึงได้ข้ามไปอยู่ที่บ้านเณรบางนกแขวกที่เณรซาเลเซียนได้ไปใช้อยู่ชั่วคราว และในขณะเดียวกันเณรของมิสซังกรุงเทพฯ และมิสซังอีสานก็ได้อพยพมาเรียนที่บ้านเณรบางนกแขวกเช่นกัน เพราะบ้านเณรของทั้งสองมิสซังนั้นต้องปิด ช่วงนี้ภัยแห่งสงครามยังคงความรุนแรงหนักหน่วงทำให้เกิดความยุ่งยากมากทั้ง ในเรื่องของการเจริญชีวิตและการศึกษา

ปี ค.ศ. 1944 (พ.ศ.2487)  พระสันตะปาปา ประกาศแต่งตั้งพระสังฆราชไทยองค์แรก คือ พระสังฆราช ยาโกเบ แจง เกิดสว่าง ทั้งนี้เพราะพระสังฆราชที่เป็นชาวต่างประเทศ ยิ่งวันก็ยิ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามสะดวก ในปีนี้ ภัยสงครามรุนแรงถึงขีดสุด มีการทิ้งระเบิดทั่วไป แม้แต่ที่ประตูน้ำปากคลองบางนกแขวกซึ่งใกล้กับวัดบางนกแขวกมาก พระสังฆราช ปาซอตตี ได้บนต่อแม่พระ ขอพระมารดาคุ้มครองวัดและสัตบุรุษให้ปลอดภัยจากสงคราม โดยจะยกถวายวัดใน ให้อยู่ในความอุปการะของแม่พระองค์อุปถัมภ์ เมื่อภัยสงครามสิ้นสุด พระสังฆราช ปาซอตตี จึงได้บูรณะวัดในบางนกแขวกให้งดงามเหมาะสม และทำการเสกวัดถวายแด่แม่พระเป็นการแก้บนในวันที่ 24 พฤษภาคม 1946 (พ.ศ.2489) วัดนี้จึงเป็นอนุสรณ์แห่งความคุ้มครองของพระมารดาที่มีต่อชาวบางนกแขวก

วันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1947 (พ.ศ.2490)  พระสังฆราช ปาซอตตี ได้ทำพิธีบวชพระสงฆ์พื้นเมืองของราชบุรี 2 องค์ คือ คุณพ่อสมกิจ นันทวิสุทธิ์ คุณพ่อชุนเอ็ง ก๊กเครือ ซึ่งถือเป็นผลแรกของสังฆมณฑลราชบุรีเลยทีเดียว

วันที่ 31 มกราคม 1948 (พ.ศ.2491)  พระสังฆราช ปาซอตตี ได้บวชพระสงฆ์พื้นเมืองของราชบุรีเป็นชุดที่สอง นั่นคือ คุณพ่อ บุญนาค ทองอำไพ คุณพ่อสุเมธ วัชรศักดิ์ไพศาล คุณพ่อวิศิษฐ์ สินสมรส ที่วัดบางนกแขวก

วันที่ 31 มกราคม 1949 (พ.ศ.2492) พระสังฆราช ปาซอตตี ยังได้บวชพระสงฆ์ใหม่ของราชบุรีเป็นรุ่นที่สาม อีก 1 องค์ คือ คุณพ่อ รัตน์ บำรุงตระกูล (ภายหลังได้เป็นพระสังฆราชไทยองค์แรกแห่งสังฆมณฑลราชบุรีและสังฆมณฑล เชียงใหม่)

วันที่ 3 กันยายน 1950 (พ.ศ.2493)  เป็นวันแห่งความเศร้าโศกของคริสตชนชาวราชบุรี ที่ต้องสูญเสียพระสังฆราช ปาซอตตี ท่านได้คืนวิญญาณแด่พระเป็นเจ้าที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ มีพิธีปลงศพที่วัดบางนกแขวกโดยพระสังฆราช แจง เกิดสว่าง แห่งสังฆมณฑลจันทบุรี ศพของท่านได้รับการบรรจุไว้ที่ใต้กางเขน กลางสุสานวัดบางนกแขวกและท่านได้สั่งให้จารึกที่หลุมศพว่า “ ดั่งบิดาท่ามกลางบุตร ”

ต่อมา คุณพ่อ เปโตร คาเร็ตโต ได้รับเลือกเป็นสังฆราชสืบแทน ต้นปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ.2495) คณะนักบวชคามิลเลี่ยนเข้ามาเตรียมตัวเพื่อเริ่มกิจการด้านโรงพยาบาล และเปิดโรงพยาบาลแห่งแรกที่บ้านโป่งในปี ค.ศ. 1953 (พ.ศ.2496) คณะสงฆ์รอยแผลศักดิ์สิทธิ์ก็เข้ามาในปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ.2495) และได้รับมอบหมายให้ดูแลคริสตชนในจังหวัดภาคใต้ทางด้านตะวันตก ต่อมาในปี ค.ศ. 1954  (พ.ศ.2497) มีงานสมโภชครบรอบ 25 ปี ตั้งแต่คณะนักบวชซาเลเซียนเข้ามาดำเนินงานในสังฆมณฑลราชบุรี โดยจัดงานเฉลิมฉลองที่วัดบางนกแขวก

สถานที่ก่อสร้างสังฆมณฑลราชบุรี
และ ร.ร.ดรุณาราชบุรี
ที่มาของภาพ
http://www.daruna.org/
ปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ.2498)  เริ่มย้ายสำนักงานพระสังฆราชมาประจำที่อำเภอเมืองราชบุรี เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อกับวัดต่าง ๆ ในเขตการปกครอง

ปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ.2499)  เริ่มสร้างศูนย์ของสังฆมณฑลที่ราชบุรีเป็นอาคาร 3 ชั้น ยาว 250 เมตร แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ โรงเรียนดรุณาราชบุรี สำนักพระสังฆราช และสามเณราลัยแม่พระปฏิสนธินิรมล กระทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1956 (พ.ศ.2499)  ก่อสร้างเสร็จและทำพิธีเสกเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1959 (พ.ศ.2502)

ระยะนี้ กิจการเริ่มขยายลงไปทางภาคใต้ มีการเปิดศูนย์ใหม่ ๆ ขึ้นหลายแห่ง เช่นที่บ้านแสงอรุณ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่บ้านดอน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ที่ร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และที่ยะลา ส่วนซิสเตอร์คณะผู้รับใช้ดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์ ซึ่งมีศูนย์ของคณะอยู่ที่วัดแม่พระบังเกิด บางนกแขวก ก็ย้ายอารามขึ้นมาอยู่ที่ราชบุรี และทำการเปิดสอนเรียนตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1955 (พ.ศ.2498) เป็นต้นมา

วัดต่าง ๆ ที่เก่าแก่และชำรุดทรุดโทรม บรรดาเจ้าอาวาสก็ตื่นตัวเริ่มดำเนินการจัดสร้างวัดใหม่ให้รับกับความเจริญ ของท้องถิ่นและให้พอกับจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของบรรดาคริสตชน อาทิ วัดแม่กลอง วัดบ้านโป่ง วัดดอนมดตะนอย วัดบางตาล วัดหลักห้า วัดกาญจนบุรี วัดลูกแก วัดราชบุรี วัดท่าม่วง วัดท่าหว้าและวัดห้วยกระบอกซึ่งเป็นวัดสุดท้าย

ทางด้านการศึกษา ก็ได้รับการสนับสนุนปรับปรุงให้เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เช่น โรงเรียนดรุณานุเคราะห์และโรงเรียนนารีวัฒนา บางนกแขวก โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัยและโรงเรียนนารีวุฒิบ้านโป่ง โรงเรียนดรุณาราชบุรีและโรงเรียนนารีวิทยาราชบุรี โรงเรียนดรุณานุกูลแม่กลอง โรงเรียนวีรศิลป์ท่าม่วง กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ แต่ละโรงเรียนเป็นที่นิยมเชื่อถือและไว้วางใจของบรรดาผู้ปกครองและปราะชาชนทั่วไป

ทางด้านสามเณราลัยก็เจริญขึ้นเรื่อย ๆ สามารถผลิตพระสงฆ์พื้นเมือง เพื่อเป็นกำลังของสังฆมณฑลเป็นลำดับมา พระสงฆ์พื้นเมืองชุดแรกที่ได้รับศีลบรรพชาจาก ฯพณฯ กาเยตาโน ปาซอตตี คือ คุณพ่อเปาโล สมกิจ นันทวิสุทธิ์ และคุณพ่อเปาโล ชุนเอ็ง ก๊กเครือ ในกาลต่อมาก็มีพระสงฆ์ใหม่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้ย้ายสามเณราลัยมาตั้งที่อาคารใหม่ ราชบุรี ในปี ค.ศ. 1959 (พ.ศ.2502)

ทางด้านนักบวชหญิง คณะผู้รับใช้ดวงหทัยนิรลของพระแม่มารีย์ จำนวนผู้ที่ถวายตัวก็เพิ่มขึ้นมากมาย จนสามารถกระจายออกไปประจำทำงานตามวัดต่าง ๆ ช่วยแบ่งเบาภาระของพระสงฆ์ตามวัดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในสภาพที่เรียบร้อยและสมบูรณ์พร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่ขั้นต่อไป สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 โดยทางสมณกระทรวงเพื่อการแพร่ธรรม ก็ได้มีพระสมณราชโองการ ยกฐานะเทียบสังฆมณฑลราชบุรีขึ้นเป็นสังฆมณฑลราชบุรี  เมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1965 (พ.ศ.2508) และต่อมาในวันที่ 12 กรกฏาคม ค.ศ. 1969 (พ.ศ.2512) ก็ได้ทรงแต่งตั้ง ฯพณฯ โรเบิร์ต รัตน์ บำรุงตระกูล เป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลราชบุรีสืบแทน ฯพณฯ เปโตร คาเร็ตโต ซึ่งได้ย้ายไปปกครองสังฆมณฑลใหม่ คือ สังฆมณฑลสุราษฏร์ธานี

สมัยคณะสงฆ์สังฆมณฑลราชบุรีดำเนินงาน จนถึงปี ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529)

พระสังฆราช ยอห์นบอสโก
ปัญญา กฤษเจริญ
ฯพณฯ โรเบิร์ต รัตน์ บำรุงตระกุล ได้รับการอภิเษกจาก ฯพณฯ เปโตร คาเร็ตโต ที่ราชบุรี เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1969 (พ.ศ.2512)  โดยมี ฯพณฯ ยวง นิตโย อัครสังฆราชแห่งสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และ ฯพณฯ คราเรนซ์ ดูฮาร์ต แห่งสังฆมณฑลอุดรธานี เป็นผู้ร่วมอภิเษก วันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1969 (พ.ศ.2512)  ก็ได้กระทำพิธีขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขสังฆมณฑลราชบุรี ณ อาสนวิหารวัดแม่พระบังเกิด บางนกแขวก ท่ามกลางความปิติยินดีของคณะสงฆ์ นักบวชชาย-หญิง และบรรดาคริสตชนแห่งสังฆมณฑลราชบุรี ปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ.2518)  สมเด็จพระสันตะปาหา เปาโล ที่ 6 ทรงแต่งตั้ง ฯพณฯ โรเบิร์ต รัตน์ บำรุงตระกูล ไปเป็นประมุขของสังฆมณฑลเชียงใหม่ สืบแทน ฯพณฯ ลูเชียง ลากอสต์ ซึ่งได้รับอนุมัติให้ลาออกจากประมุขของสังฆมณฑลเชียงใหม่

ดังนั้น ฯพณฯ ยอแซฟ เอก ทับปิง ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของสังฆมณฑลราชบุรี สืบแทน ฯพณฯ โรเบิร์ต รัตน์ บำรุงตระกูล ฯพณฯ ยอแซฟ เอก ทับปิง ได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราช จาก ฯพณฯ โรเบิร์ต รัตน์ บำรุงตระกูล เมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1976 (พ.ศ.2519)  ณ ศูนย์สังฆมณฑลราชบุรี โดยมี ฯพณฯ มีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เป็นผู้ร่วมอภิเษกด้วย

ในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1976 (พ.ศ.2519)  ได้กระทำพิธีขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของสังฆมณฑลราชบุรี ณ อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก ท่ามกลางคณะสงฆ์ นักบวชชาย – หญิง และบรรดาสัตบุรุษ ซึ่งทุกคนแสดงความชื่นชมยินดีและพร้อมที่จะนอนน้อมเชื่อฟังนายชุมพาบาลของพวกเขาสืบไป

พระสังฆราช เอก ทับปิง หลังจากได้ปกครองสังฆมณฑลราชบุรีเป็นเวลา 8 ปี ก็ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1985 (พ.ศ.2528)  ณ โรงพยาบาลคามิลเลียน ซอยทองหล่อ โดยก่อนหน้านี้เพียงไม่นาน ได้มีการจัดงานฉลองหิรัญสมโภชแห่งการเป็นพระสงฆ์ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1984 (พ.ศ.2527) ณ วัดน้อยของโรงพยาบาลท่ามกลางญาติมิตร และเมื่อวันที่ 27 มกราคม 1985 (พ.ศ.2528) ณ บริเวณโรงเรียนดรุณาราชบุรีเป็นงานระดับสังฆมณฑล มีพระสมณฑูตเรนาโต มาร์ตีโน บรรดาพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวชชายหญิง และสัตบุรุษทุกวัด ทั้งในสังฆมณฑลและนอกสังฆมณฑลมาร่วมงานฉลองเป็นจำนวนมาก

พระสันตะปาปา จอห์นปอลที่ 2 ได้แต่งตั้งคุณพ่อยอห์นบอสโก มนัส จวบสมัย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบ้านเณรแสงธรรมให้เป็นพระสังฆราชแห่งสังฆ มณฑลราชบุรี แทนพระสังฆราช เอก ทับปิง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1985 (พ.ศ.2528)  ผ่านทางสมณฑูตเรนาโต มาร์ตีโน ณ โอกาสสมโภช 275 ปี ของกลุ่มคริสตชนแรกของวัดจันทรบุรี และ 75 ปีวัดปัจจุบัน และได้รับการอภิเษกจากพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ที่กรุงโรม เมื่อวันที่ 6 มกราคม 1986 (พ.ศ.2529)  และได้กลับมาทำฉลองขึ้นครองอาสน์ที่ราชบุรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 1986 (พ.ศ.2529)  ท่ามกลางพระสมณทูตเรนาโต มาร์ตีโน พระอัครสังฆราช พระสังฆราช บรดาพระสงฆ์ นักบวชชายหญิง และคริสตชนทั่วไป ที่พากันมาโมทนาคุณพระเป็นเจ้า ที่ประทานนายชุมพาบาลให้กับสังฆมณฑลราชบุรี และ ณ โอกาสเดียวกันนี้ ยังได้ทำการฉลองหิรัญสมโชแห่งการเป็นพระสงฆ์ของพระสังฆราช มนัส จวบสมัย ด้วย

ลำดับพระสังฆราชที่ปกครองสังฆมณฑลราชบุรี จนถึงปัจจุบัน
  1. พระสังฆราช กาเยตาโน ปาซอตตี
  2. พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต
  3. พระสังฆราช โรเบิร์ต รัตน์ บำรุงตระกูล
  4. พระสังฆราช ยอแซฟ เอก ทับปิง
  5. พระสังฆราช ยอห์นบอสโก มนัส จวบสมัย
  6. พระสังฆราช ยอห์นบอสโก ปัญญา กฤษเจริญ
จังหวัดในเขตการปกครอง
  1. จังหวัดราชบุรี
  2. จังหวัดสมุทรสงคราม
  3. จังหวัดกาญจนบุรี
  4. จังหวัดเพชรบุรี
ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นมาของสังฆมณฑลราชบุรี ได้จากหนังสือ วชิรานุสรณ์ อาสนวิหารมารีสมภพ บางนกแขวก ในหัวเรื่อง “ประวัติ อาสนวิหารมารีสมภพ บางนกแขวก” โดย ส.นันทวิสุทธิ์และป.รุจิรัตน์
  • ตอนที่ 1 กำเนิดวัดบางนกแขวก
  • ตอนที่ 2 การสร้างวัดบางนกแขวกที่อยู่ในปัจจุบันนี้
  • ตอนที่ 3 สมัยซาเลเซียน ปกครองสังฆมณฑลราชบุรี
  • ตอนที่ 4 สมัยคณะสงฆ์ไทย ปกครองสังฆมณฑลราชบุรี
ที่มาข้อมูล
สำนักมิสซังคาทอลิคเขตราชบุรี. (2553). ประวัติโดยสังเขปสังฆมณฑลราชบุรี. [Online]. Available :http://www.ratchaburidio.or.th/main/2010-01-20-12-51-30/6-2010-01-19-12-50-58. [2553 พฤศจิกายน 21 ].

ไม่มีความคิดเห็น: