วัดใหญ่อ่างทอง ตั้งอยู่เลขที่ 96 หมู่ที่ 1 ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 109 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองราชบุรี ประมาณ 6 กิโลเมตร ลักษณะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม รูปวงรี ด้านหน้าวัดมีถนนสายเพชรเกษม ซึ่งเป็นถนนสายหลักวิ่งผ่าน มีอาณาเขตติดต่อ คือ
- ทิศเหนือ จดถนนสายสุขาภิบาลอ่างทอง-ดอนแร่, บ้านชายทุ่ง หมู่ที่ 1
- ทิศใต้ จดวัดเขาน้อยและหมู่บ้าน หมู่ที่ 4, 5
- ทิศตะวันออก จดถนนสายเพชรเกษม
- ทิศตะวันตก จดหมู่บ้านต้นสัก และหมู่บ้านท่ามะเฟือง
หลวงพ่อโนจา ผู้สร้างวัด
ประมาณปี พ.ศ.2329 หลวงพ่อโนจา พระชาวเชียงใหม่ ได้ออกธุดงค์มาถึง และเห็นว่าพื้นที่นี้เหมาะสมแก่การพักปฏิบัติธรรม และชาวบ้านเริ่มศรัทธา จึงได้มีการเริ่มต้นประกาศตั้งวัดขึ้นไปครั้งแรก ประวัติวัดในเบื้องต้นมีผู้บริจาคเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ 2 งาน และได้รับบริจาคที่ดินตั้งแต่หลวงพ่อโนจา มาจนถึงปัจจุบัน วัดใหญ่อ่างทองมีที่ธรณีสงฆ์รวม 39 ไร่ 47 ตารางวา ซึ่งจัดแบ่งเป็นเขตศาสนสถาน คือ พุทธาวาส และเขตสังฆาวาส และสาธารณสถานสวนหนึ่ง คือ ได้จัดให้มีการจัดตั้งโรงเรียนอันเป็นสถานศึกษาชั้นต้น และมีเขตพื้นที่จัดสรรประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย
คำว่า "อ่างทอง" ปัจจุบันเป็นชื่อของตำบลหนึ่งในเขต อ.เมืองราชบุรี แต่เดิมในอดีตนั้นมีชื่อว่า "ตำบลดอนงิ้ว" เมื่อก่อนในบริเวณแถบบนี้มีหลายหมู่บ้าน ต่อมาได้รวมเข้าเป็นหมู่บ้านเดียวกันแล้วขนานนามเสียใหม่ว่า "บ้านใหญ่อ่างทอง" โดยพื้นที่นี้มีภูเขาเป็นฉากหลัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เมื่อเข้าฤดูฝนซึ่งมีน้ำหลากมาสู่พื้นที่ราบลุ่มรูปวงรี (เหมือนกับอ่าง) แห่งนี้ แล้วได้นำเอาแร่ธาตุต่างๆ มาด้วย โดยเฉพาะแร่ทองคำ ซึ่งอดีตชาวบ้านได้เล่าขานว่า สถานที่แห่งนี้มีทองคำเคลื่อนที่ได้ ซึ่งจะไหลมารวมกันอยู่บริเวณหน้าวัด ปัจจุบันเมื่อเดินทางผ่านไปมาบริเวณหน้าวัดจะเห็นน้ำเป็นพื้นสีขาวสะอาด สวยสด เต็มไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ ทั่วทั้งบริเวณ ฉะนั้นจึงเป็นมูลเหตุเกี่ยวกับ ชื่อวัดว่า "วัดใหญ่อ่างทอง"
การสร้างวัดนั้น ไม่ปรากฎหลักฐานในวรรณคดีหรือจารึกต่างๆ มีแต่คำบอกเล่าของผู้คนรุ่นเก่าๆ ซึ่งเป็น "ตำนาน" เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อโนจา ธุดงค์มาพักปฏิบัติธรรมโปรดญาติโยม และชาวบ้านได้เห็นจริยาวัตรอันงดงามจนมีความเลื่อมใสศรัทธา เมื่อย่างเข้าเขตการอยู่จำพรรษา ชาวบ้านจึงนิมนต์หลวงพ่อให้อยู่จำพรรษา ณ ที่แห่งนี้ และได้เริ่มสร้างกุฎิให้หลวงพ่ออยู่จำพรรษา
เพื่อให้พระพุทธศาสนาได้สืบทอดต่อไปในอนาคต และจะได้เป็นรากฐานเสริมสร้างจิตใจมวลมนุษย์ให้มีความสุข หลวงพ่อโนจาจึงได้ดำริจัดตั้งวัดขึ้น โดยใช้ชื่อตามภูมิประเทศว่า "วัดใหญ่อ่างทอง"
หลวงพ่อโนจา นี้ท่านเป็นชาวเชียงใหม่ และต่อมาท่านได้นำชาวเชียงใหม่ ซึ่งเรียกตนเองว่า "ชาวเวียง" ที่นับถือท่านลงมาตั้งถิ่นฐาน ณ บริเวณวัดใหญ่อ่างทองนี้อีกเป็นจำนวนมาก
ตามบันทึกทะเบียนวัดของจังหวัดราชบุรีซึ่งจัดทำโดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี ได้บันทึกไว้ว่า วัดใหญ่อ่างทอง ประกาศจัดตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2325 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2385
รายนามเจ้าอาวาส
- หลวงพ่อโนจา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2382-2419
- หลวงพ่อกบิลปัญญา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2419-2438
- เจ้าอธิการหมวดยอด (เป็นเจ้าคณะตำบลด้วย) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2438-2466
- พระครูธีรญาณประยุต (เทียน พุทฺธปาโล) (เป็นเจ้าคณะตำบลด้วย) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2466-2496
- พระมหาสวสัดิ์ สิริวณฺโณ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496-2522
- พระครูธีรญาณประยุต (เชื้อ ธีรปญฺโญ) (เป็นเจ้าคณะตำบลด้วย) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522-2554
พระสีวลีและอุโบสถหลังใหม่ |
อ่านเพิ่มเติม
- พระครูธีรญาณประยุต (เชื้อ ธีรปญฺโญ) พระนักพัฒนา
- ภาพชุดวัดใหญ่อ่างทอง ที่ตั้ง เส้นทาง และพิกัด
- บานหน้าต่างไม้แกะสลัก วัดใหญ่อ่างทอง
ที่มา :
วัดใหญ่อ่างทอง. (2554).แนวคิดทางธรรม : อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูธีรญาณประยุต (เชื้อ ธีรปญฺโญ น.ธ.เอก) .กรุงเทพฯ : สหธรรมิก. แจกจ่ายเมื่อ 6 มีนาคม 2554.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น