วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ วัดปราสาทสิทธิ์ จ.ราชบุรี

"หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์"เป็น พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งวัดปราสาทสิทธิ์ ม.5 ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ที่ชาวบ้านให้ความศรัทธาและมีประวัติอันยาวนานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3

ประวัติหลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์
ความเป็นมาของ หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ ได้รับการบอกเล่าจากคนเก่าแก่อย่าง พระครูสมุห์รวีโรจน์ วรมังคโล รองเจ้าอาวาสวัดปราสาทสิทธิ์ ว่า เมื่อ พ.ศ.2371 รัชสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงปรารภว่า คลองสุนัขหอน ทางแม่กลองมาชนกับทางแม่น้ำท่าจีนที่ ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ทำให้คลองตื้นเขินบ่อยๆ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้การขุดคลองแต่ละครั้งจะใช้ได้นานๆ เจ้าพระยาคลัง (ดิศ บุญนาค) ทูลแนะว่าให้ขุดคลองแยกจากคลองสุนัขหอนหรือคลองควายในปัจจุบัน ผ่านมาทางริมหมู่ บ้านโพหัก

ดังนั้น รัชกาลที่ 3 จึงรับสั่งให้ขุดคลองขึ้น โดยชาวจีนผู้รับจ้างที่อาศัยอยู่ที่โคกสูง ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนิน สะดวก ซึ่งเป็นที่ตั้งอุโบสถในปัจจุบัน กระทั่งเมื่อขุดเสร็จ เจ้าพระยาคลังได้มาตรวจดูคลอง สมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ หรือท่านช่วง บุญนาค ได้ติดตามบิดามาด้วย ตอนนั้นเจ้าพระยาคลังได้ปรารภว่า "โคกนี้สูงใหญ่กว้างขวางเหมาะที่จะสร้างวัด" แต่แล้วก็ยังไม่ได้มีการจัดสร้างวัด

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้รับสั่งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ดำเนินการขุดคลองดำเนินสะดวกเป็นระยะทางยาว เมื่อขุดคลองมาถึงหลักห้า พระยาศรีสุริยวงศ์ก็ระลึกถึงคำปรารภของเจ้าพระยาคลังผู้เป็นบิดาที่เคยปรารภ ว่าอยากจะสร้างวัดที่บริเวณดังกล่าว

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ จึงตกลง ใจสร้างวัดขึ้นที่โคกนั้นด้วยสาเหตุ 3 ประการ คือ เพื่อทำตามความประสงค์ของบิดา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่น้องสาวที่วายชนม์ไปแล้ว และไว้สำหรับบำเพ็ญกุศลเหมือนกับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

พระครูสมุห์ รวีโรจน์ วรมังคโล เล่าว่า เมื่อสร้างวัดเสร็จ เจ้าคุณอริยมุนี วัดราชาธิวาส ได้มาเป็นประธานในพิธีผูกพัทธสีมา และในราว พ.ศ.2448 ท่านเจ้าอธิการแก้ว รัตนโชติ ก็ได้ย้ายศาลาการเปรียญไปไว้ริมเขื่อนด้านตะวันออก

ต่อมา พ.ศ.2456 วัดเดิม กุฏิและโบสถ์เกิดการแตกร้าวมาก ประกอบกับว่าพื้นที่เป็นโคกดินเหนียว พอถึงช่วงฤดูแล้งก็แตกระแหงลึกมากเกือบเมตร พอฤดูฝน ฝนตกมากๆ ดินก็ทรุดเกินที่จะปฏิสังขรณ์ได้อีก ท่านเจ้าอธิการแก้วจึงย้ายวัดมา อยู่ที่ริมคลองดำเนินสะดวก ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดในปัจจุบัน และเมื่อวัดสร้างเสร็จก็ตั้งชื่อว่า "วัดสมเด็จพระปราสาทสิทธิดาราม" แต่พอย้ายวัดลงมาอยู่ที่ริมคลองดำเนินสะดวก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เสด็จมาตรวจก็ทรงรับสั่งว่า วัดควรจะให้ตั้งชื่อตามตำบลที่ตั้งอยู่ว่า "วัดดอนไผ่" แต่วัดให้ใช้ตามทางราชการ ว่า "วัดปราสาทสิทธิ์"

ส่วน "หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์" องค์พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารหลังใหม่ ริมคลองดำเนินสะดวก เป็นพระพุทธรูปหินเขียวปางสมาธิ ศิลปกรรมสมัยอยุธยา หน้าตักกว้างประมาณ 60 นิ้ว สูง 3 ศอกคืบ มีพระพักตร์กลมอิ่มยิ้ม พระอังสะและพระอุระใหญ่กว้างและผึ่งผายสง่างาม พระเพลาเป็นแบบสมาธิธรรมดา พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระหัตถ์ซ้าย พระพุทธลักษณะได้สัดส่วน ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างและผู้สร้าง แต่สันนิษฐานตามพุทธลักษณะ เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปโบราณ มีอายุยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ย้อนกลับไป เมื่อครั้งที่วัดสร้างเสร็จ พระมหาแจ่ม วรรณวงศ์ ได้เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยพระอาจารย์บุนนาค ซึ่งเป็นรองเจ้าอาวาสสมัยนั้น ได้จัดกองผ้าป่าไปทอดยังวัดเชิงเลน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อเสร็จพิธี คณะผ้าป่าก็ได้เอ่ยปากขอพระพุทธรูป เพื่อจะนำมาเป็นพระประธานในอุโบสถที่วัดเพิ่งสร้างเสร็จ

เจ้าอาวาสวัดเชิงเลนท่านก็ไม่ขัดข้อง ซึ่งคณะผ้าป่าได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษ ฐานที่วัดปราสาทสิทธิ์ เมื่อขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปี 2499 โดยตอนนั้นหลวงพ่อมีองค์ชำรุดที่บริเวณพระอังสะและพระเพลา คณะกรรมการวัดจึงได้ช่วยกันนำไปปฏิสังขรณ์ให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมมากที่สุด เมื่อบูรณะเสร็จแล้ว พระมหาแจ่ม และพระอาจารย์บุนนาค เห็นพ้องต้องกันว่า เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาว ต.ประสาทสิทธิ์ และตำบลใกล้เคียง จึงขนานนามท่านว่า "หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์"

ตั้งแต่นั้นมา ทุกวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 หรือช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นวันที่ได้อัญเชิญหลวงพ่อไตรรัตน์ฯ มาประดิษฐานที่วัดปราสาทสิทธิ์ ชาวบ้านได้ร่วมใจกันจัดประเพณีแห่พระทางน้ำเชิงอนุรักษ์ โดยได้นำองค์จำลองหลวงพ่อไตรรัตน์ฯ ขนาดหน้าตัก 29 นิ้ว ประดิษฐานในขบวนเรือแห่ให้ประชาชนตลอดสองฝั่งคลองดำเนิน สะดวก ระยะทาง 32 กิโลเมตร ได้ตั้งโต๊ะสักการบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล

ที่มาข้อมูลและภาพ :
พระเครื่องตั้มศรีวิชัย.(2554). หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ วัดปราสาทสิทธิ์ จ.ราชบุรี : พระพุทธรูปสำคัญของไทย. [Online]. Available : http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538954706&Ntype=42. [2554 มกราคม 3].

ไม่มีความคิดเห็น: