การสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ เพื่อเป็นที่สักการะประจำทั้งสี่ทิศนั้นยังไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงนับเป็นครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ได้มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 49 นิ้ว เรียกว่า "พระพุทธนิรโรคัรตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ" หรือ "พระสี่มุมเมือง" เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศได้สักการะบูชา โดยกรมการรักษาดินแดน ซึ่งในสมัยนั้นมี พลโทยุทธ์ สมบูรณ์ เป็นเจ้ากรมการรักษาดินแดน เป็นผู้ดำริและดำเนินการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ เสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ณ กรมการรักษาดินแดน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2511 โลหะที่ใช้ในการหล่อประกอบด้วย ทองเหลือง 3 ส่วน ทองแดง 1 ส่วน ทองขาว 1 ส่วน รวมโลหะทั้งสิ้นประมาณ 400 กิโลกรัม มีพุทธลักษณะเหมือนกับพระนิรโรคันตรายทุกประการ
เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วได้พระราชทานให้จังหวัด 4 จังหวัด อัญเชิญไปประดิษฐานไว้สักการะประจำแต่ละทิศ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2511 คือ
- ทิศเหนือ พระราชทานให้ประดิษฐานไว้ที่จังหวัดลำปาง
- ทิศใต้ พระราชทานให้ประดิษฐานไว้ที่จังหวัดพัทลุง
- ทิศตะวันออก พระราชทานให้ประดิษฐานไว้ที่จังหวัดสระบุรี
- ทิศตะวันตก พระราชทานให้ประดิษฐานไว้ที่จังหวัดราชบุรี
เจ้ากรมการรักษาดินแดนกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี จังหวัดพัทลุง จังหวัดสระบุรี และจังหวัดลำปาง เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ เพื่อเชิญไปประดิษฐานในแต่ละจังหวัด เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2511
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระสุหร่ายพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ
นายยุทธ หนุนภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี รับพระราชทานพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศไปประดิษฐาน ณ จังหวัดราชบุรี
**************************
ที่มาข้อมูลและภาพ
- คณะทำงานจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ.(2553).พระมหากรุณาธิคุณต่อจังหวัดราชบุรี.กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์. (ดูภาพหนังสือ)