วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ยันต์ตรีนิสิงเห มหาเป้อ วัดป่าไผ่

ภาพเขียน "ยันต์ตรีนิสิงเห" ที่เพดานหอพระไตรปิฏก วัดป่าไผ่

...สมัยก่อนนั้น ไม่เพียงวัดป่าไผ่เท่านั้นที่มีความเชื่อยันต์ตรีนิสิงเห แต่รวมไปถึงวัดต่างๆ ในละแวกนี้...

วัดป่าไผ่ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นวัดสำคัญของชาวมอญอีกวัดหนึ่ง "มหาเป้อ" อดีตเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้ เป็นชาวมอญซึ่งมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฏก ทั้งภาษาไทยและมอญ  และมนต์คาถาต่างๆ อย่างเช่นการทำ "ยันต์ตรีนิสิงเห" ซึ่งแพร่หลายและทำตกทอดสืบมาหลายร้อยปีทั้งในพม่า เขมร เมื่อครั้งลัทธิตันตระ พุทธศาสนาฝ่ายมหายานกำลังเฟื่องฟูในภูมิภาคดังกล่าว

ที่เพดานหอพระไตรปิฏก ณ วัดป่าไผ่ นี้ มีภาพเขียนเป็นรูป "ยันต์ตรีนิสิงเห" ช่าวเขียนเต็มพื้นเพดาน ที่บานประตูนั้น มีภาพเขียนเป็นรูปเซี่ยวกางทั้งสองบาน และที่บานหน้าต่างเขียนเป็นรูปทวารบาล สวยงามทั้งสองบานเช่นกัน ผนังด้านนอกทั้งสี่ด้านของอาคารเขียนเรื่องพุทธประวัติ ทว่าบางส่วนลบเลือนไป เหลือไว้แต่เฉพาะส่วนภายในชายคาอาคาร ซึ่งอยู่ในที่ที่ไม่ถูกทำลายด้วยฝน แดด สีสันจึงยังสดใส ที่ใต้ถุนหอไตรเขียนเป็นลายผ้ามีดอกดวงเต็มพื้นที่อย่างสวยงาม  น่าเป็นห่วงที่หอพระไตรปิฏกแห่งนี้อยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก ผู้รับผิดชอบน่าจะเข้าไปดูแลก่อนที่จะพังครืนลงมา

คุณตาเลี่ยม วังวารี อายุ 85 ปี เคยเป็นลูกศิษย์มหาเป้อ บวชเณรเมื่อตอนอายุ 10  ขวบ เป็นหนึ่งในจำนวนลูกศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ทางโหราศาสตร์ มนต์คาถาจากพระมหาเป้อ ปัจจุบันเหลือท่านเพียงคนเดียวเท่านั้นในลุ่มน้ำแม่กลอง ที่สามารถลงเลขยันต์ตรีนิสิงเหแบบมอญ ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านมักเรียกท่านว่า "หมอเลี่ยม"

คุณตาเลี่ยมเล่าให้ฟังว่า "มหาเป้อ เคยเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดป่าไผ่ ตอนหลังสึกเป็นฆราวาส มาตั้งบ้านอยู่ตรงข้ามกับวัดขนอน ท่านเป็นผู้มีความสามารถมาก  มีความรู้เรื่องพระไตรปิฏกทั้งภาษาไทยและภาษามอญ ว่ากันว่า ท่านเรียนภาษามอญที่วัดป่าไผ่ตั้งแต่เด็กๆ จึงเก่งทางบาลีและโหราศาสตร์ด้วย มีตำราการเขียนยันต์ ซึ่งจะบอกว่าเขียนอย่างไร สวดคาถาอะไรระหว่างเขียน ภาพเขียนที่เราเห็นที่หอไตรนั้น เขาวาดภาพแทนตัวเลข แต่ถ้าใช้ติดตามบ้านนั้น เขาใช้ตัวเลขเป็นสัญลักษณ์แทน เช่น พระเจ้าห้าองค์ก็ใช้เลข 5 พระอาทิตย์ พระจันทร์ ก็ใช้เลข 2 ตัวเลขแต่ละตัวนั้นเขาจะมีคาถาหรือคำภาวนากำกับยันต์ตรีนิสิงเห จะเรียกว่ายันต์แปดทิศก็ได้ เป็นสี่เหลี่ยมสองอันซ้อนกัน เมื่อเวลาลากเส้นลงยันต์นั้น จะให้เส้นสะดุดหยุดชะงักไม่ได้ ปากก็ท่องบ่นคาถาที่ถ่ายทอดกันเฉพาะตั้งแต่เมื่อครั้งโบราณ เรียกว่า ลงยันต์ เป็นวิชาที่ยาก คนเรียนต้องมีทั้งสมาธิ อดทนแน่วแน่ จิตไม่แกว่ง"

คุณตาจวน เครือวิชฌยาจารย์ เล่าเสริมเรื่องนี้ว่า ยันต์ตรีนิสิงเห นั้นเคยเห็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร สมัยก่อนไม่เพียงมีที่วัดป่าไผ่เท่านั้น วัดต่างๆ ในละแวกนี้ต่างนิยม คาถายันต์ตรีนิสิงเหนี้ มีจารหรือจารึกในสมุดข่อยที่พบอยู่ตามวัดทั่วไป เช่น ที่วัดป่าไผ่ วัดม่วง(บน)

"เมื่อตอนที่ผมเป็นเด็กๆ ประมาณ 10 ขวบ ผมได้ทันเห็นมหาเป้อ ท่านเป็นผู้ที่ดังมากทางนักธรรม รู้เรื่องหลักการทางศาสนาอย่างแตกฉาน นอกจากนี้ยังเก่งเรื่อคาถาอาคม อย่างเรื่องยันต์ตรีนิสิงเหก็ถือว่าท่านเก่งกล้าสมารถทีเดียว ชาวบ้านแถบนี้ต้องมาหา คนมอญเชื่อถือกันมาก  แม้ปัจจุบันก็ไม่เสื่อมคลาย ทว่าหาคนทำ คนรู้อย่างจริงจังในปัจจุบันแทบจะไม่มี หาคนถ่ายทอดไม่ได้ คนเรียนก็ไม่มี"

"ชาวบ้านมักจะนำยันต์ไปติดไว้ที่หัวเสาตามบ้านเรือน ยุ้งฉาง อันนี้ไม่ได้เพื่อป้องกันผี แต่เป็นการป้องกันสิ่งชั่วร้ายอันตรายภัยพิบัติที่จพเข้ามาต่างหาก  เช่น ไฟไหม้ พายุ เป็นต้น...ในเมื่อชาวมอญยังนับถือผี ถ้ายันต์ป้องกันผีแล้ว ผีที่เราเลี้ยงไว้จะเข้ามาที่บ้านเราได้อย่างไรกัน"

ดูภาพเพิ่มเติม
ภาพยันต์ตีนิสิงเห

ที่มา :
ข้อมูล : กุศล  เอี่ยมอรุณ. (2541). เงาชีวิตในภาพเขียน : วัดป่าไก่. ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 362-363)
ภาพบน : ประเวช  ตันตราภิรมย์ (บน)
ภาพกลาง : http://img161.imageshack.us/img161/2314/27275379wp1.jpg
ภาพล่าง : นิตยา กนกมงคล

ไม่มีความคิดเห็น: